การตั้งครรภ์: การเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่สังเกตได้มีอะไรบ้าง ต้องป้องกันและแก้ไขอย่างไร

สุขภาพ-งานวิจัย

12 สิงหาคม 2004


การตั้งครรภ์ของสตรีเพศ มีการเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายในร่างกายหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าการที่มีชีวิตใหม่เกิดขึ้นในร่างกาย น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น รูปร่างที่เปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งจากภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ความผิดปกติของผิวหนัง เล็บ และเส้นผม
การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผิวหนังในระหว่างตั้งครรภ์ 
1. การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสี
1.1 มีผิวสีเข้มขึ้น – พบได้ถึงร้อยละ 90 ของสตรีมีครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนจากรังไข่ รก และต่อมใต้สมองสูงขึ้น
บริเวณที่พบบ่อยได้แก่ บริเวณรอบหัวนม เส้นกลางท้อง( linea nigra) รักแร้ อวัยวะเพศ รอบทวารหนัก อาจพบกระ ไฝ และแผลเป็นสีดำคล้ำได้ เริ่มพบได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แล้วคล้ำไปเรื่อยๆ จนหลังคลอดค่อยจางลง แต่บริเวณหัวนมและเส้นกลางท้องอาจคงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะในคนผิวสีคล้ำ
1.2 ฝ้า- พบได้ถึงร้อยละ 50-75 ของสตรีมีครรภ์ และพบได้ถึง 1 ใน 3 ของสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดก่อนการตั้งครรภ์
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงแสงแดด การใช้ครีมกันแดด SPF>30 หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดก่อนการตั้งครรภ์ โอกาสเกิดฝ้าได้มักพบ ใน3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด หลังคลอดฝ้าอาจจางหายได้ หรือถ้าไม่หายอาจต้องทำการรักษา
2. การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด – เชื่อว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน การหมุนเวียนของเลือดและปริมาณเลือดที่มีเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์
2.1 จุดแดงและมีแขนงแยกออกของเส้นเลือดฝอยคล้ายใยแมงมุม( Spider nevi) พบได้บ่อยในคนผิวขาวถึงร้อยละ 60 แต่ในคนผิวดำ พบได้ร้อยละ 10 มักพบบริเวณ ลำคอ รอบตาและแขน มักเกิดในระยะการตั้งครรภ์ในเดือนที่ 2-5 และจางหายได้เองภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด ไม่จำเป็นต้องรักษา
2.2 ฝ่ามือแดง อาจพบได้ เป็น 2 ลักษณะ คือ แดงที่ขอบเขตชัดเจน หรือ แดงเป็นหย่อมๆ ทั่วฝ่ามือซึ่งพบได้บ่อยกว่า ถึงร้อยละ 60 ในคนผิวฃาว และร้อยละ 35 ในคนผิวดำ มักหายได้เองหลังคลอด
2.3 เส้นเลือดโป่งพอง อาจพบโอกาสเกิดริดสีดวรทวาร หรือเส้นเลือดขอดที่ขาได้ พบได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก เนื่องจากช่องท้องน้อยมีความดันเพิ่มขึ้นจากมดลูกขยายตัว ทำให้การไหลเวียนโลหิตของเลือดดำเข้าสู่หัวใจช้าลง ดังนั้นควรแนะนำให้นอนยกขาสูง หรือนอนหัวต่ำ พันขาด้วยผ้ายืด ใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการเป็นมากขึ้น
2.4 เหงือกบวมและแดงได้ง่าย
2.5 ช่องคลอดมีเลือดคั่งและหลอดเลือดขยายตัวได้
2.6 อาจมีอาการตาบวม หน้า ขาบวม แบบกดไม่บุ๋ม
2.7 หน้าซีด หน้าแดง รู้สึกร้อนสลับหนาวได้ เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

3. การเปลี่ยนแปลงของเส้นผมและขน
3.1 ผมร่วงหลังคลอด เกิดได้ประมาณ อาทิตย์ที่4-20 หลังคลอด อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง หรือเครียดขณะตั้งครรภ์ แต่จะหยุดร่วงและผมงอกมาใหม่ภายใน 6-15 เดือน
3.2 ภาวะขนดก ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้มารดา มีขนดกคล้ายผู้ชายได้ พบขนดกได้ที่ใบหน้า แขน ขา หลัง หรืออวัยวะเพศ หลังคลอดแล้วภาวะขนดำมักหายได้เอง ภายใน6 เดือน
4. การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
4.1 ภาวะท้องลาย( Striae gravidarum ) เกิดจากการขยายตัวของผิวหนังอย่างรวดเร็ว จนเกิดจากฉีกขาดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ในคนผิวขาว และมีประวัติครอบครัวเคยที่ภาวะท้องลาย จะทำให้เป็นได้ง่าย อาจพบอาการคันร่วมด้วย ปัจจุบันมีครีมทาป้องกันและรักษา แต่ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
4.2 ติ่งเนื้อ (seborheic keratosis)เกิดได้บริเวณ ใบหน้า ลำคอ อกช่วงบน และใต้ราวนม มักหายได้เองหลังคลอด ไม่มีอันตราย อาจผ่าตัด หรือจี้ออกได้ ถ้ารำคาญ
5. เล็บมีอาการเปราะหักง่าย อาจพบร่องตามแนวขวางของเล็บ เล็บเผยอได้ง่าย ควรแนะนำให้ตัดเล็บให้สั้น
6. การเปลี่ยนแปลงของต่อมเหงื่อ อาจทำให้เหงื่อออกได้ง่าย ขี้ร้อน มีผดผื่นได้บ่อยๆ
7.รอยหัวนมอาจขยายขึ้น และมีสีน้ำตาลคล้ำ จากการเปลี่ยนแปลงของต่อมไขมัน Sebaceous ในระหว่างตั้งครรภ์ และจะยุบจางลงหลังคลอด

จากที่กล่าวมานี้ เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปกติของสตรีมีครรภ์ ดังนั้นการได้รับรู้เบื้องต้น ถึงการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่อาจเกิดได้ และจะหายได้เอง คงทำให้ว่าที่คุณแม่หลายท่าน สบายใจขึ้นบ้างนะครับ

Related