Aromatherapy : ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยกลิ่น เพื่อสุขภาพกายและใจที่ผ่อนคลาย

ความงามทั่วไป

6 กันยายน 2005


Aromatherapy(สุวคนธบำบัด) หมายถึงการนำกลิ่นหอมจากสมุนไพรมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้ร่างกาย จิตใจอารมณ์เกิดความสมดุล
-โดยใช้หลักทางสรีรศาสตร์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสกลิ่น ได้มากกว่าหมื่นชนิดนั่นเอง กลิ่นที่มนุษย์ได้รับสัมผัสในแต่ละครั้ง จะผ่านประสาทสัมผัสรับกลิ่น (Olfactory nerves) ซึ่งอยู่เหนือโพรงจมูก (nasal cavity) เมื่อกลิ่นต่าง ๆ จากโมเลกุลของละอองเกสรดอกไม้ ผ่านกระเปาะรับกลิ่น (Olfactory bulbs) ที่ต่อกับลิมบิค ซีสเต็ม (Limbic system) ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความทรงจำ
– ไอจากน้ำมันหอมระเหยจะผ่านลมหายใจ เข้าสู่ปอด และผ่านไปสู่ศูนย์ควบคุม การทำงานของสมองไปยังต่อมประสาท ต่อมสมอง แล้วหยุดที่ระบบความจำ ซึ่งจะกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกสบาย
– กลิ่นหอมที่ไปสู่ระบบควบคุมประสาท จะทำให้ความคิดโลดแล่น เมื่อไปกระทบต่อมฮอร์โมน ก็กระตุ้นให้ฮอร์โมนหลั่งสารแห่งความสุข ( Endorphine) ช่วยคลายเครียด กระปรี้กระเปร่า ไม่ซึ่มเศร้า
– หลักการ นี้เอง น้ำมันหอมระเหยที่ถูกสกัดจากพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดจึงถูกค้นคว้าวิจัย เพื่อนำมาบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เพราะคุณสมบัติที่แตกต่างกันของพืชสมุนไพรซึ่งผ่านการค้นคว้ามาแล้วจากหลายสถาบัน หลายอารยธรรม หลายช่วงกาลเวลา ถูกสั่งสมให้คุณค่าของความรู้ทางด้านน้ำมันหอมระเหยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ประเภทของการบำบัดด้วย Aroma Therapy
อโรมา เธอราพี… เป็นการบำบัดรักษาด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหย หรือ Essential Oil ที่สกัดจากพืชที่มีกลิ่นหอม ซึ่งใช้หลักใหญ่ 2 แบบ คือ
1 การดมกลิ่น
2 การทาให้ซึมผ่านทางผิวหนัง
ทั้งนี้ อาจจะทำทั้งสองแบบควบคู่ไปด้วยกัน
การเลือกกลิ่นสำหรับการบำบัดรักษา
เบซิล – มีผลช่วยสร้างความสดชื่น กระปรี้ประเปร่าให้กับร่างกาย ช่วยให้สมองปลอดโปร่งและมีสมาธิในการทำงานต่างๆ ในแต่ละวัน เวลากลับจากงานเหนื่อยๆ เบซิลจะช่วยไล่ความอ่อนเพลียได้อย่างเหลือเชื่อ ยิ่งเหยาะผสมกับลาเวนเดอร์และเปปเปอร์มินท์ด้วยแล้ว ยิ่งไล่ความเครียดได้อย่างดี
ลาเวนเดอร์ – พืชยอดนิยมที่มักจะใช้เป็นหัวน้ำหอมของสบู่ และแป้งหลายยี่ห้อ มีคุณสมบัติในการรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะช่วยลดความตึงเครียด ปรับสภาพสมดุลย์ให้กับร่างกายและจิตใจ คืนความสดชื่นให้กับสมอง ฝ่าเท้า และกล้ามเนื้อตามจุดต่างๆ  ลาเวนเดอร์เพียง 2-3 หยดบนหมอนใบนุ่ม จะช่วยให้หลับสบายฝันหวานตลอดคืน…
อีฟนิ่ง พริมโรส – น้ำมันหอมระเหยที่มักใช้ผสมในโลชั่นบำรุงผิวสมัยนี้ เพราะอุดมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุ ให้ผลดีกับใบหน้าและผิวพรรณ ป้องกันความแห้งกร้าน รักษาโรคผิวหนังเรื้อรังต่างๆ ได้อีกด้วย
ซีดาร์วู้ด – น้ำมันสกัดที่รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยโบราณว่ามีคุณสมบัติช่วยป้องกันผิวเสีย และลดความมันของใบหน้า ใช้บรรเทาอาการไอ แก้หวัดได้อีกด้วย แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์เป็นอันขาด
มะกรูด – สมุนไพรใกล้ครัวชนิดนี้นอกจากใช้ทำยาสระผมแก้ผมร่วง บำรุงเส้นผมแล้ว น้ำมันหอมยังช่วยให้ผ่อนคลาย เติมพลังให้อารมณ์สดชื่น เสริมสร้างความมั่นใจ ถ้าใช้เป็นน้ำมันนวดตัว ก็จะช่วยลดรอยแผลเป็นให้จางลงได้
โรสวู้ด – กลิ่นหอมของน้ำมันสกัดชนิดนี้จะช่วยให้สดชื่น และหอมติดกายดีแท้ ถ้านำมาใช้ผสมกับน้ำมันนวด หลังการออกกำลังกายจะช่วยบรรเทาอาการเมื่อย ลงได้โขทีเดียว แถมยังช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้อีกด้วย
เปลือกส้ม – กลิ่นหอมจากน้ำมันเปลือกส้มแทบไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น อบอุ่น อารมณ์สนุกสนาน เมื่อผสมกับน้ำมันนวดตัว จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และช่วยให้นอนหลับสบาย

ข้อควรระวังในการใช้ Aromatherapy

น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ใน Aromatherapy นั้น สามารถใช้สูดดมหรือนวดตามร่างกายได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นน้ำมันสกัดที่มีความเข้มข้นสูง ผลิตภัณฑ์บางชนิดจึงอาจจำเป็นต้องเจือจางก่อนนำไปใช้ เพราะหากทาลงบนผิวหนังโดยตรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้ผิวไวต่อแดดได้ หรือหากสูดดมจากบรรจุภัณฑ์ก็อาจมีกลิ่นฉุนแสบจมูกและทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่ไวต่อกลิ่นด้วย

นอกจากนี้ มีข้อควรระวังเพิ่มเติมในการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย ดังนี้

  • ไม่ควรชิม ดื่ม หรือรับประทานน้ำมันหอมระเหย เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจมีพิษและทำให้เกิดความเสียหายต่อทางเดินอาหาร ตับ และไตได้
  • ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยกับเด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจไม่ปลอดภัยและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ใด ๆ
  • ควรทดสอบอาการแพ้ที่ผิวหนังก่อนใช้ทุกครั้ง โดยทาน้ำมันหอมระเหยที่ท้องแขนแล้วปิดไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หากมีอาการบวม แสบ หรือแดง ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นอีก

Related