SLE ( Sysemic Lupus Erythematosus) : โรคแพ้ภูมิตัวเอง กับอาการที่พบทางผิวหนัง

ผิวหนัง

4 สิงหาคม 2005


โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE คืออะไร
         
ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ  โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิในเม็ดเลือดขาวกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ที่มันไปทำลาย ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเม็ดเลือดขาวไปโจมตีอวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น

เป็นโรคอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ไม่หายขาด และก่อให้เกิดโรคได้ในหลายๆ ระบบ ( เช่น ไต ไขข้อ ระบบเลือด ระบบผิวหนัง )

โรคที่พบได้ไม่บ่อย และบางคนอาจยังไม่รู้จักโรคนี้กันเท่าใดนัก เคยมีอดีตราชินีลูกทุ่งหญิงของไทยท่านหนึ่ง ได้เสียชีวิตจากโรคนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทำให้โรคนี้ได้มีกล่าวถึงกันมากขึ้น

แต่ในวงการแพทย์โรคนี้รู้จักกันมานาน แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวกัน( connective tissue diseases) โดยมีการทำลายเนื้อเยื่อในระบบภูมิคุ้มกัน อาการทางผิวหนังเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของโรคที่สังเกตให้เห็นได้

อุบัติการณ์ของโรคนี้ พบประมาณ 2-3 คนใน 100,000 คน มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอัตราส่วน 9:1 ในช่วงอายุ 20-50 ปี อาการของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต คือภาวะแทรกซ้อนทางไต ทำให้ไตวาย และระบบประสาทส่วนกลาง

อาการของโรค ที่พบได้บ่อย คือ การปวดข้อ ข้ออักเสบ ไตอักเสบ ไข้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคโลหิตจาง เกร็ดเลือดต่ำ ผื่นทางผิวหนัง พบว่า ผู้ป่วยประมาณ 77 % หลังจากป่วยด้วยโรคนี้ และไม่ได้พบแพทย์รักษาตัวต่อเนื่อง หรือมีอาการแทรกซ้อนหลายระบบ จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี

ผื่นทางผิวหนัง ในผู้ที่ป่วยด้วยโรค SLE
แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. ระยะเฉียบพลัน (acute phase) มักพบกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบอื่น ร่วมด้วย ผื่นมีได้หลายแบบ เช่น ผื่นราบแดงหรือม่วงคล้ำ หรือ ตุ่มน้ำ แต่มักในบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น ใบหน้า และที่พบได้บ่อย คือ ลักษณะผื่นบวมนูนแดงที่แก้มทั้งสองข้าง คล้ายปีกผีเสื้อ( malar rash) ดังในภาพที่แสดง มักเกิดขึ้นทันทีที่โดนแดด บางครั้งอาจจะคัน ผื่นมักหายได้เอง ในเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ สีผิวอาจไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อหาย หรือคล้ำลงเล็กน้อย
2.ระยะกึ่งเฉียบพลัน( subacute phase) มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยถึงวัยกลางคน พบได้ประมาณ 25-85 % ของผู้ป่วยทั้งหมด
3.ระยะเรื้อรัง( chronic phase) ผื่นชนิดนี้ มักมีอาการแสดงทางระบบอื่นร่วมด้วยน้อย ประมาณร้อยละ 5-10 มักพบได้บ่อยสุดในผื่นระยะต่างๆ มีลักษณะผื่นแดง ขอบเขตชัด ตรงกลางบาง พบได้บ่อยบริเวณที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น หน้า หนังศีรษะ หู ริมฝีปากล่าง ถ้าเป็นที่หนังศีรษะมักเกิดแผลเป็น และทำให้ผมร่วง และแก้ไขให้หาย ผมก็จะไม่ขึ้นมาทดแทน
อาการที่ควรพบแพทย์
         
อาการที่พบบ่อย  มีอาการทางผิวหนัง เช่น  มีผมร่วง มีแผลในปาก จะอยู่ที่เพดานซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ  แพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ  มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก มีอาการปวดข้อ บวมแดง ร้อน นอกจากนี้ยังมีอาการที่อวัยวะภายในอื่น ๆ  เช่น หัวใจ ปอด ไจ และระบบประสาท
การวินิจฉัยและรักษา
         
การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้จากประวัติของผู้ป่วย   การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอ็กซเรย์หัวใจและปอด
          สำหรับการรักษามีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น  ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ
          ส่วนการรักษาอื่นในผู้ทีมีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น   ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น

Related