Posted on

เซ็บเดิร์ม ( Seborrheic dermatitis) รักษาแบบเดิมๆ ไม่หายซักที ทำไงดี อยากหายขาด

Seborrheic dermatitis (เซ็บเดิร์ม)คืออะไร

– คือ โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก และมีขน เช่น บริเวณหนังศีรษะโดยเฉพาะบริเวณตีนผม เช่น หน้าผาก ท้ายทอย หัวคิ้ว หนวดเครา ข้างจมูก โรคนี้มักจะเกิดเป็นๆ หายๆ เรื้อนัง ทำให้เกิดความไม่สบายใจกับคนไข้ เพราะอาจจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ลักษณะ  : ผื่น มักจะมีสีแดง หรือแดงออกเหลือง ขอบเขตชัดเจน มีขุยมันๆ ปกคลุมอยู่ บริเวณหนังศีรษะถ้าเป็นมาก อาจจะค่อยๆ ขยายออกเป็นปื้นหนา หรือตกสะเก็ด

สาเหตุ :ที่แท้จริงของโรคในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ ภาวะภูมิแพ้หนังศีรษะ หรือ อาจเกี่ยวข้องกับเชื้อ P.ovale เพราะมีเหตุผลว่าเมื่อวัดปริมาณของเชื้อนี้ในคนที่มีอาการ จะมีมากกว่าคนปกติ

 โรคนี้บางที แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรค จากโรคเรื้อนกวาง( Psoriasis) โรคผื่นแพ้อักเสบ( contact dermatitis) โรคผิวหนังอักเสบจากเหา โดยอาศัยลักษณะผื่น การซักประวัติ การตรวจร่างกายและการส่องกล้องจุลทรรศน์

แนวทางการรักษาแบบเดิม

– ก่อนหน้านี้ เรามักจะรักษาตามอาการ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แนวทางการรักษาแบบเดิมๆ ก็จะมีดังนี้
1. แชมพูสระผม พบว่า ที่มีส่วนประกอบของ 2.5 % Selenium sulfide,Cold tars,Zinc pyrithone สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และช่วยลดภาวะผมมันลงได้ด้วย
2. แชมพูสระผม ประเภทฆ่าเชื้อรา เช่น Nizoral shampoo พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ P.ovale ได้ และทำให้ภาวะเซ็บเดิร์มลดลงได้
3. ในรายที่มีการอักเสบ การใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของ Corticosteroids จะช่วยลดและรักษาอาการอักเสบได้ดี
4. ในรายที่มีปื้นหนาๆ แพทย์บางท่านอาจให้ สารลอกขุย( Keratolytic agents) เช่น Salicylic acid,cold tar ร่วมด้วย
5. กรณีที่เป็นที่บริเวณใบหน้า การเลือกครีมแก้แพ้ ลดรอยแดง จะช่วยให้ดีขึ้น การมาสค์หน้าลดการอักเสบ ด้วยกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น สาหร่ายทะเล เป็นประจำก็ช่วยให้ดีขึ้นได้ หรือกรณีที่เห่อ แล้วเกิดสิวอักเสบ สิวอุดตันตามมา การมาสค์หน้าด้วยยีสต์หมักรักษาสิวที่เรียกว่า Vivant Mask (มาส์ควีวอง) ก็ช่วยให้สิวยุบตัวลงได้
6. การป้องกันมิให้เป็นมากขึ้น ต้องหลีกเลี่ยง สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ภาวะของโรคกำเริบ


แนวทางการรักษาแบบใหม่

โรคนี้แต่ก่อน การรักษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยหายขาด มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ภูมิต้านทาน และการดูแลสุขอนามัย ของผู้ป่วย ทางคลินิกนีโอ จึงได้ลองทำการรักษาด้วยเลเซอร์แทน พบว่าทำให้คนไข้อาการหายได้เร็วขึ้น ไม่ค่อยกลับมามีอาการได้นานๆ หลายเดือน หรือบางคนหายขาดได้
1. V-Beam Laser มีหลักฐานว่าปัญหาเซ็บเดริ์ม ทำให้เกิดรอยแดง เส้นเลือดผิดปกติ วีบีมเลเซอร์ จัดเป็นเลเซอร์รักษาปัญหารอยแดง หรือเส้นเลือดที่ผิดปกติ ที่เป็นที่นิยมสูงสุดทั่วโลกได้ผลทันทีหลังทำ คลิินิกนีโอ ได้นำวีบีมเลเซอร์มาทำ การรักษารอยเห่อแดง จากเซ็บเดิร์ม ทำให้อาการหายได้เร็วขึ้นกว่าวิธีเดิมๆ และไม่ทำให้ลดอัตราเสี่ยงที่ทำให้คนไข้ติดสเตียรอยด์
2. Finescan Laser 1550 : เพราะเชื่อว่า อาการของเซ็บเดิร์ม เกิดจากต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ หลักการทำงานของเลเซอร์ Fine scan หรือ Erbium Glass Laser เป้าหมายคือต่อมไขมันโดยตรง ดังนั้นการยิงไปยังบริเวณที่มีปัญหา ตัวเลเซอร์จะไปรักษาท่อไขมันและต่อมไขมันที่ผิดปกติ จึงเป็นแนวทางการรักษาที่ช่วยให้อาการเซ็บเดิร์มให้หายขาดได้ และป้องกันการกลับมาเห่อใหม่ได้อีก

Posted on

ลิ้นแตกลาย คล้ายแผนที่ ( Geographic tongue) อาการแบบนี้ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไรดี

ลิ้นแตกลาย คล้ายแผนที่ ( Geographic tongue) คืออะไร

คือ ภาวะที่ลิ้นจะมีลักษณะลายคล้ายแผนที่ ไม่เรียบ แดง สวย เหมือนลิ้นคนทั่วไป ขอบเขตชัด และไม่พบเกสร( papillae) ของลิ้น พบได้ประมาณ ร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วไป พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายลิ้นและทำให้ลิ้นไวต่ออาหารที่มีรสเผ็ดหรืออาหารร้อน อย่างไรก็ตาม ลิ้นลายแผนที่ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่อันตราย ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งแต่อย่างใด และในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้ิ
สาเหตุของลิ้นลายแผนที่
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิด Geographic Tongue อย่างแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น

  • ภาวะลิ้นแตกเป็นร่อง เพราะผู้ป่วย Geographic Tongue มักมีภาวะลิ้นแตกเป็นร่องร่วมด้วย
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มักทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกแบ่งตัวมากผิดปกติจนเกิดแผ่นปื้นที่หนาและตกสะเก็ดตามร่างกาย จนส่งผลให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว โดย Geographic Tongue เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยเป็น Geographic Tongue มาก่อนก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

การรักษาลิ้นลายแผนที่

ผู้ป่วยมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา เพราะภาวะ Geographic Tongue ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง ไม่มีผลต่อการรับประทานอาหาร หรือ การรับรสอาหาร แม้จะทำให้รู้สึกไม่สบายลิ้นในบางครั้ง รวมทั้งอาการที่ปรากฏอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องหายามาทา
-อาจจะมีอาการระคายเคืองหรืออาการไวต่อสิ่งกระตุ้นของลิ้นได้ เช่น หากรู้สึกระคายเคืองลิ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสจัด เผ็ดร้อน หรือมีกรด ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านั้น
-ตวรงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีรสเผ็ดร้อนด้วย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
โดยปกติ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนระยะยาวตามมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีภาวะลิ้นแตกเป็นร่อง ซึ่งมักเกิดร่วมกับลิ้นแตกลาย คล้ายแผนที่ และอาจทำให้ระคายเคืองหรือรู้สึกเจ็บลิ้นในบางครั้ง
การป้องกันและรักษา
ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้ แต่ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลิ้นเกิดการระคายเคืองได้ เช่น งดรับประทานอาหารบางประเภท ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากบางชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองลิ้น
– รายที่มีอาการรุนแรง อาจรับประทานยากลุ่มแก้อักเสบกลุ่ม NSAID เช่น Iprobufen หรือยาป้ายแผลในปาก เช่น Kenalog in oral base เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดบนผิวลิ้น รวมถึงอาจใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาต้านฮิสตามีนหรือ   เพื่อช่วยลดการอักเสบ การระคายเคือง และอาการเจ็บปวด  

Posted on

ครีมทาหรือยากิน ในการรักษาโรคทางผิวหนัง ยาหมดอายุ ดูอย่างไร ใช้ยังไง ให้ได้ผล ปลอดภัย ไร้ผลข้างเคียง

การใช้ยาทา และยารับประทาน สำหรับโรคผิวหนัง บางครั้ง ผู้จ่ายยาแก่ท่าน อาจจะให้รายละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทำให้ประสิทธิผลการรักษาอาจจะไม่เต็มที่ หรือเกิดผลข้างเคียง……ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งจะได้นำประเด็นหลักๆ สำคัญมาให้ทราบดังนี้
แขมพูยา กลุ่ม Coal tars (น้ำมันดิน)
– เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาปัญหาผื่นผิวหนังอักเสบ รังแค สะเก็ดเงิน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของครีม ขี้ผึ้ง หรือแชมพู สำหรับแชมพู หลักการใช้ควรใช้น้ำอุ่นชโลมหนังศีรษะให้เปียกก่อน แล้วค่อยใช้แชมพูที่พอเหมาะทาถูให้ทั่วหนังศีรษะ แล้วทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วค่อยล้างออก อาจจะต้องสระซ้ำอีกครั้ง อาจจะสระทุกวันหรือทุกอาทิตย์แล้วแต่แพทย์จะสั่ง ส่วนกรณีที่เป็นแบบครีมหรือขี้ผึ้ง หลังทาควรจะเลี่ยง แสงแดด ระวังตัวยาเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า หรือเส้นผม เพราะจะทำให้เสื้อผ้าและเส้นผมเปลี่ยนสีได้
ยารับประทานแก้แพ้
– ยากลุ่ม Antihistamine เช่น Chlorpheniramine, Atarax ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ควรระมัดระวังในการขับขี่หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องกล ไม่ควรดื่มอัลกอฮอล์ หลังรับประทานยาแก้แพ้ เพราะจะเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงมากขึ้น นอกจากนี้ยาทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง และควรระวัดระวังในผู้ที่มีอาการหอบหืด ต้อหิน ยากลุ่มนี้ ไม่จำเป็นต้องทานตามแพทย์กำหนด เมื่ออาการดีขึ้น อาจจะหยุดยาเองได้

ครีมทาลดรอยดำ ( Depigmenting agents) 
ได้แก่ กลุ่มยา Hydroquinone ซึ่งจัดเป็นยาที่ใช้ได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุม หรือสั่งจ่ายได้เฉพาะจากแพทย์เท่านั้น จัดเป็นตัวยารักษารอยดำที่ได้ผลดีตัวหนึ่ง แนะนำให้ทาเฉพาะรอยดำตามลำตัวได้วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าทาที่ใบหน้าให้ทาเฉพาะก่อนนอน และเลี่ยงแดด หรือทาครีมกันแดด ยาตัวนี้ ควรใช้เท่าที่จำเป็น เพราะยากลุ่มนี้ใช้ไปนานๆ อาจจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ด่างขาวถาวร หรือรอยดำมากขึ้นจากผลของยา ปัจจุบันมียาตัวใหม่ๆ ที่มีสรรพคุณไวเทนนิ่งที่ปลอดภัยกว่ายาตัวนี้ ดังนั้นปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ไม่ควรเลือกใช้ยาเอง ยากลุ่มนี้ควรเก็บในช่องเย็นธรรมดาไม่ต้องแช่แข็ง
ยารับประทานรักษาเชื้อรา
-ได้แก่ยา Griseofulvin และยา Ketoconazole ควรแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้ตัวยาดูดซึมได้ดี
– สำหรับยา Griseofulvin เมื่อรับประทานรักษาเชื้อรา ควรเลี่ยงแดดและทาครีมกันแดด เพราะมีผลทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด และเลี่ยงการรับประทานอัลกอฮอล์เพราะจะทำให้ปวดศีรษะได้
– ส่วนยา Ketoconazole ไม่ควรรับประทานพร้อมยาลดกรด จะประสิทธิภาพของยาจะลดลง ยาทั้งสองตัว ควรรับประทานให้ครบกำหนดเวลาที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาเอง ส่วนกรณียาฆ่าเชื้อราแบบฟอกตามลำตัว (สำหรับรักษาสิวจากเชื้อราที่หลัง หรือกลาก เกลื้อน) ควรจะใช้หลังจากฟอกสบู่เสร็จแล้ว แล้วทาทิ้งไว้ 15-20 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยไม่ต้องฟอกสบู่ซ้ำอีก

คำแนะนำอื่นๆ โดยทั่วไป

  1. การปิดทับยา มักจะใช้เพื่อต้องการให้ยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น มักจะใช้กับยาที่รักษาหูด หรือตาปลา โดยหลังทายาควรใช้ผ้าพันแผลหรือเทปปิดทับบริเวณที่ทายาทิ้งไว้ทั้งคืนหรือประมาณ 12 ช
  2. การเก็บรักษายา โดยทั่วไปจะระบุไว้ที่ฉลากการใช้ยา ถ้าไม่ระบุ ควรจะเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง อากาศถ่ายเทสะดวก อย่าปล่อยยาให้โดนแสงแดดเพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ ไม่ควรเก็บยาในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว และหลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในที่มีอากาศร้อน และไม่ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น ยกเว้นยาครีมบางชนิด แต่ก็ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
  3. ครีมหรือขี้ผึ้ง ให้สังเกตการแยกชั้นของตัวยา หรือการหดตัวของครีม หรือจุดด่างดำที่เนื้อครีม (ซึ่งแสดงว่ามีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์) ถ้าสังเกตพบ แนะนำให้หยุดใช้ยานั้นทันที เพื่อป้องกันผลข้างเคียง หรือประสิทธิภาพของยาอาจจะลดลง
  4. ยาเม็ด ที่เปลี่ยนสี แตกร่วน หรือสีซีดลง หรือมีกลิ่น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาต่อไป
  5. ยาแคบซูล ที่มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น บวมหรือพองออก หรือจับกันแน่น ผงยาเปลี่ยนสี ควรหยุดรับประทานและปรึกษาแพทย์
  6. ยาน้ำ ถ้ามีการตกตะกอน หรือความสม่ำเสมอของยาไม่เท่ากัน มีการแยกชั้น ซึ่งเมื่อเขย่าให้เข้ากันแล้ว ทำไม่ได้ ควรหยุดใช้ทันที
  7. การสังเกตยาหมดอายุ ควรดูวันที่ที่ผลิต และวันหมดอายุ ถ้าไม่มีระบุไว้ ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้

7.1 ยาเม็ด มักจะมีอายุได้ประมาณ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์
7.2 ยาน้ำ มักจะมีอายุได้ประมาณ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์
7.3 ยาฉีด มักจะมีอายุได้ประมาณ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์
7.4 ยาครีม มักจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์
7.5 ยาขี้ผึ้ง มักจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์

Posted on

ปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายเหนียว สาเหตุจากอะไร อันตรายหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น

ปากแห้ง คอแห้ง หมายถึง ริมฝีปาก และภายในบริเวณ ช่องปากทั้งหมด แห้งหรือไม่มีน้ำลาย นอกจากจะทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายในช่องปากแล้ว ยังพบว่า ผู้ที่อยู่ในสภาวะปากแห้งจะพบว่าฟันจะผุ เป็นแผลได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณคอฟันเพราะไม่มีน้ำหรือน้ำลาย มาชะล้างคราบอาหารออกจากผิวฟัน และทำให้มีกลิ่นปากได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะเหงือกอักเสบ เป็นแผลร้อนในได้ง่าย
สาเหตุ ที่ทำให้เกิดปากแห้งมีหลายสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ดังนี้

  1. การขาดน้ำ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรืออยู่ในสภาวะบางอย่างที่ดื่มน้ำไม่ได้ เช่น ผู้ที่พูดอยู่เป็นเวลานาน ผู้ที่ท้องเสียรุนแรง ภาวะไข้สูง
  2. ผู้ที่ออกกำลังกายเสียเหงื่อออกมาก และไม่ได้ดื่มน้ำชดเชยปริมาณที่พอเพียง
  3. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาลดน้ำมูก ยารักษาสิวบางตัว( ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ Roaccutane,Isotane,Acnotin) ยากดประสาททางจิตเวช ซึ่งยาเหล่านี้ จะลดการไหลของน้ำลายลงไปด้วย จะทำให้ปากและคอแห้งในช่วงที่รับประทานยาอยู่ และอาการปากแห้งจะหายไปเมื่อหยุดยา
  4. ผู้ที่หายใจทางปาก ซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น ขณะเป็นหวัดมีการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก หายใจไม่ออกต้องหายใจทางปาก ก็ทำให้ปากแห้งได้หรือผู้ที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบ มีเนื้องอกในโพรงจมูก หายใจไม่สะดวก ต้องหายใจทางปากแทน ผู้ที่นอนอ้าปากหรือนอนหายใจทางปาก ทำให้ปากและคอแห้งได้ สังเกตได้จากตื่นเช้ามา มักจะเจ็บคอ หรือคอแห้ง
  5. ผู้ที่ได้รับการฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และลำคอหลังจากฉายแสงแล้วมีอาการปากแห้งได้ เพราะต่อมน้ำลายและต่อมที่ผลิตน้ำเมือกถูกทำลาย น้ำลายจึงน้อยลงซึ่งทำให้เกิดสภาวะปากแห้งอยู่ตลอดเวลา
  6. ความเครียด เชื่อว่าความเครียดจะทำให้ต่อมน้ำลาย และน้ำเมือกทำงานลดลง
    การแก้ไข
    ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะปากแห้ง คอแห้ง จะต้องจิบน้ำบ่อยๆ และแนะนำว่าควรจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำที่ไม่ร้อนมาก เพราะน้ำร้อนจะไปทำให้อาการปวดแสบปวดร้อนที่เกิดจากปากแห้งเป็นมากขึ้น และควรเป็นน้ำสะอาดไม่ควรเป็นน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน เพราะน้ำเหล่านี้มีกรด และน้ำตาลผสมอยู่ ถ้าจิบบ่อยๆ นอกจากจะทำให้ฟันผุได้ง่ายแล้ว ยังจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาล มากเกินความจำเป็นได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ จะทำให้ท้องอืดได้ ส่วนผู้ที่หายใจทางจมูกไม่สะดวก ควรให้แพทย์ตรวจดูเพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขเสีย ควรป้องกันฟันผุ ด้วยการอมน้ำยาบ้วนปากฟูลออไรด์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้สภาวะปากแห้งมากขึ้น และควรให้ทันตแพทย์ทำความสะอาดฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ทุก 6 เดือนด้วย
Posted on

ฝ้าขาว หรือคราบขาวในช่องปาก จากเชื้อรา (Oral thrush or White tongue) สาเหตุ และการแก้ไข

คราบขาว หรือฝ้าขาวในช่องปาก (white lesions) เป็นผื่นที่พบได้บ่อยๆ เกิดได้หลากหลายสาเหตุ และบางครั้งรอยโรคของผื่นขาวบางอย่าง ก็เป็นลักษณะอาการหนึ่งของการเกิดมะเร็ง หรือเป็นอาการแรกเริ่มที่บ่งบอกให้หาสาเหตุของการติดเชื้อร้ายแรงอย่างอื่นๆ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น ผื่นขาวในช่องปากที่พบได้บ่อยๆ มักจะมีสาเหตุจากการติด เชื้อรา Candida albicans
เชื้อรา Candida albicans เป็นเชื้อราที่ไม่รุนแรง(normal flora) มักจะพบได้ในทางเดินอาหารส่วนล่าง เช่น ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ยกเว้นในกรณีที่มีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย จึงอาจจะมีการเพิ่มจำนวนและกลายเป็นเชื้อก่อโรคได้ สาเหตุหรือปัจจัย : มีได้ดังนี้
1. เด็กเล็ก ที่ไม่สามารถทำความสะอาดช่องปากเองได้ หรือทารกที่นอนหลับแล้ว อมขวดนมค้างไว้ทั้งคืนบ่อยๆ
2. คนชรา ที่ใส่ฟันปลอมแล้วทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
3. คนที่อนามัยช่องปากไม่ดี
4. คนที่สูบบุหรี่จัด เป็นระยะเวลานานๆ
5. คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในคนไข้ติดเชื้อไวรัส HIV,หรือผู้ป่วยที่ได้รับสารต้านมะเร็ง(chemotherapy) หรือการฉายแสง

ลักษณะอาการ: รอยโรคจะมีลักษณะเป็นฝ้าขาวขอบเขตชัดเจน บางครั้งดูคล้ายครีมหรือคราบนม(milk-curd like lesions) เกาะติด แน่นในเยื่อบุช่องปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ฝ้าขาวนี้เขี่ยออกได้ง่าย และอาจจะพบลักษณะการอักเสบเป็นรอยแดงหลังขูดออก ดังนั้นอาจจะมีอาการแสบในปากขณะรับประทานอาหาร ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจจะลุกลามไปถึงหลอดอาหาร ทำให้มีการกลืนลำบาก หรือปวดบริเวณลิ้นปี่เวลากลืน
การวินิจฉัยโรค: แพทย์จะอาศัยลักษณะรอยฝ้าขาวที่พบ และตรวจยืนยันจากการขูดเอาฝ้าขาวไปย้อมสีแกรม หรือย้อมน้ำยา KOH แล้วส่องด้วย กล้องจุลทรรศน์ จะพบลักษณะเป็นเชื้อยีสต์ หรือเป็นสายปล้องๆ ที่เรียกว่า pseudohyphae และในวัยหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรง อาจจะต้องเจาะเลือด ดูสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อเอดส์ HIV เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม
การรักษาเชื้อราที่ปาก : 
1. รักษาและแก้ไขสาเหตุการเกิด เช่น การทำสะอาดอนามัยช่องปากให้ดี สม่ำเสมอและถูกวิธี ( แนะนำให้แปรงฟันและลิ้นร่วมด้วย)
2. การใช้ยาต้านเชื้อแคนดิดา ทั้งในรูปของชนิดอมในปาก(clotrimazole troche) 5 ครั้งต่อวัน หรือน้ำยาบ้วนปาก (nystatin oral suspensions) วันละ 4 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1-2 อาทิตย์จนกว่าจะหาย หรือในรายที่รุนแรงอาจจะต้องรับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น Ketoconazole วันละ 200-400 มก.ต่อวันนาน 1-2 อาทิตย์ ,Itraconazole วันละ 100 มก.นาน 1-2 อาทิตย์ และในคนไข้เอดส์ อาจจะต้องรับประทานยานานกว่านั้น เพื่อป้องกันการ กลับมาเป็นซ้ำได้

Posted on

Creeping Eruption : เส้นแดง คดเคี้ยว บนผิวหนัง คล้ายรอยเดิน คืออะไร คนที่ชอบเดินเท้าเปล่าต้องระวัง

Creeping eruptions คือ รอยคดเคี้ยวที่เกิดจากการที่ตัวอ่อนของพยาธิปากขอ( Hook worm) ของสุนัขและแมว ซึ่งอยู่ตามพื้นดิน ไชเข้าสู่ผิวหนัง แต่คนไม่ใช่แหล่งที่อยู่ของพยาธิปากขอชนิดนี้ จึงทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารให้ครบวงจรชีวิต จึงได้แต่เคลื่อนที่อยู่ในชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบเป็นเส้นคดเคี้ยวไปตามแนวทางเคลื่อนที่ของพยาธิ
ลักษณะ จะสังเกตได้ง่าย อาจมีอาการบวมแดงนูน ขนาด 1-2 มม. เป็นเส้นคดเคี้ยวที่ผิวหนัง มีอาการคันมาก มักเกิดที่มือหรือเท้า เพราะเป็นส่วนที่สัมผัสได้ง่ายกับพื้นดิน หรือพื้นทรายที่มีพยาธิปนเปื้อนอยู่
ตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้ จะเคลื่อนที่ได้ประมาณ 1-3 มม.ต่อวัน ในชั้นผิวหนัง แล้วคืบคลานไปช้าๆ แล้วจะเกิดการอักเสบและคันเป็นแนวที่พยาธิเคลื่อนที่ ขณะที่ส่วนปลายของรอยโรคจะค่อยๆ ลดการอักเสบเหลือเป็นเส้นสีน้ำตาลคล้ำๆ
พยาธิปากขอ มีอายุประมาณ 1-3 เดือน ถ้ารักษาไม่ถูกต้องก็อาจมีอาการคัน อักเสบที่ผิวหนัง จนกว่าพยาธิจะตาย
แนวทางการรักษาและป้องกัน 
– ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ในพื้นดิน หรือพื้นทราย ที่มีสุนัขอยู่จำนวนมาก เช่น ชายทะเล
– ในอดีตเคยมีการรักษาโดยการผ่าตัด หรือจี้บริเวณส่วนหัวของรอยคดเคี้ยว เพื่อทำลายหรือเอาตัวพยาธิออกจากผิวหนัง แต่ไม่ค่อยได้ผล
– การรักษาในปัจจุบัน แนะนำให้รับประทานยาฆ่าพยาธิแทน เช่น Albendazole 400 มก.ต่อวัน ติดต่อกัน 3 วัน

Posted on

Drug allergy: แพ้ยา หรือไม่ ดูยังไง วิธีแก้ไขเบื้องต้นก่อนแพทย์ ทำอย่างไร

ภาวะแพ้ยา เกิดได้บ่อย พบได้ ประมาณร้อยละ 1-5 ส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกริยาไวเกิน( Hypersensitivity ) ของร่างกายต่อยาที่ใช้ อาจเกิดทันที ในเวลาไม่กี่นาที หรืออาจจะภายหลังได้
หรืออาจจะเคยรับประทานยาชนิดนี้มาก่อน แล้วไม่แพ้ แต่ในระยะเวลาต่อมา เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้นอย่าได้ชะล่าใจ นะครับว่า ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยแพ้ยา แต่มาระยะหลัง ( แก่ขึ้น ) จะมาแพ้ยาตัวนี้ได้
กลุ่มยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย
1. กลุ่ม Penicillin เช่น Amoxycillin,Cloxacillin,Dicloxacillin ซึ่งมักเป็นยาแก้อักเสบ ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค แกรมบวก
แพทย์มักจะใช้รักษาการติดเชื้อของระบบหายใจ ผิวหนัง เช่น ไข้หวัด ปอดบวม แผลอักเสบผิวหนัง แผลฝีหนอง ฯลฯ
2. กลุ่ม Sulpha เช่น Bactrim ใช้รักษาฆ่าเชื้อโรคแกรมลบ ในระบบทางเดินอาหาร ระบบปัสสาวะ เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
3. กลุ่ม NSAID ( non-steroidal antiinflammatory drug) เช่น Brufen , Aspirin , Indomethacin ใช้รักษาโรคทางกระดูกและข้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ เก๊าซ์ เส้นเอ็นอักเสบ ปวดหลัง
4. กลุ่ม Barbiturate ใช้ในโรตลมชัก

ลักษณะอาการที่พบ

– ถ้าเป็นการแพ้ครั้งแรก มักเกิดผื่นแดงแบบจุดแดง คัน ( maculopapular rash) เกิดหลังกินยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าได้รับซ้ำอีก อาจเกิดผื่นได้เร็วขึ้น แต่อาจรุนแรงมากขึ้น จนเป็นปื้นแดงทั่วตัว แบบ erythema rash ถ้ารุนแรงมาก อาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดตามตัว คลื่นใส้ อาเจียนได้
– อาจพบลักษณะอาการแพ้ยา โดยมีผื่นแบบอื่นๆ ได้ เช่น ลมพิษ(urticaria) รอยจ้ำช้ำเฉพาะที่( fixed drug eruptions) ภาวะไวต่อแสงแดด (Phtosensitivity) ผนังเส้นเลือดอักเสบ(vasculitis) ฯลฯ

แนวทางการรักษา ก่อนไปพบแพทย์ 

  1. ถ้าสงสัย หยุดใช้ยาทันที และพบแพทย์ที่รักษาและให้ยา จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะแพทย์จะทราบว่าให้ยาอะไรแก่ท่าน และถ้าไม่สะดวก ควรพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดก่อน และนำยาที่รักษาไปด้วย ถ้าทราบชื่อยายิ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา
  2. ถ้ามี่ยาแก้แพ้ หรือแก้คัน เช่น Chorpheniramine, Actifed, Atarax อาจรับประทานก่อน 1 เม็ดทันที ก่อนพบแพทย์เพื่อป้องกันมิให้อาการแพ้ลุกลาม
  3. ทายาแก้แพ้ เช่น Stroid cream ,Calamine lotions กรณีที่คันมากๆ ก่อนพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกาให้เกิดเป็นแผล
  4. เมื่อพบแพทย์ แพทย์มักให้ยาในกลุ่ม Antihistamine,Steroid ทั้งในรูปของยารับประทานหรือยาฉีด หรือให้นอน รพ. เพื่อสังเกตอาการ กรณีที่อาการแพ้รุนแรงมาก
Posted on

Bikini Bottom : ผืื่นบั้นท้าย สิวที่ก้น ของคนที่ชอบใส่ชุดว่ายน้ำเปียกแฉะตลอดเวลา

หน้าร้อนนี้ หลายๆท่านคงใช้เวลาว่างในการคลายร้อน ด้วยการว่ายน้ำ หรือ ไปพักผ่อนชายทะเล มีโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับนักกีฬาว่ายน้ำหรือผู้ที่หลังว่ายน้ำแล้วยังนุ่งกางเกงว่ายน้ำที่เปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา
Bikini bottom หรือ Deep bacterial folliculitis of the inferior buttocks คือ ภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียที่รูขุมขน บริเวณบั้นท้าย ของผู้ที่ชอบใส่กางเกงว่ายน้ำที่เปียกแฉะตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นตุ่มนูนแดง เหนือบริเวณบั้นท้าย(ดังในภาพ) หากไม่ได้ทำการรักษาที่ถูกต้อง อาจลุกลามให้อักเสบบวมแดงเป็นตุ่มฝีหนองได้
แนวทางการรักษา
ควรทำแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด(normal saline) และน้ำยาล้างแผล เช่น Betadine solutions ทุกวัน และรับประทานยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Cloxcillin,Eythromycin และถ้าแผลแห้งไม่เปียกแฉะ ควรทายาที่มีส่วนผสมของ Clinndamycin lotions ,Erytromycin lotions ร่วมด้วยจะทำให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้งดการใส่เสื้อผ้ารัดรูป กางเกงว่ายน้ำนานประมาณ 10 วัน
แนวทางการป้องกัน
หลังว่ายน้ำ ควรรีบอาบน้ำให้สะอาด ทำความสะอาดร่างกาย เช็ดตัวให้แห้ง หรือถ้าจะว่ายน้ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ช่วงที่ขึ้นมาพัก ควรใช้แป้งที่ดูดซับความขื้น( absorbent powder)ทาเป็นระยะๆ
เมื่อทราบหลักการดังกล่าวแล้ว หวังว่าท่านที่ขอบใส่บิกินี่ทั้งหลาย คงต้องป้องกันไว้หน่อยนะครับ แล้วก้นสวยๆ จะมีแผนที่เต็มไปหมด

Bikini Bottom
Posted on

SLE ( Sysemic Lupus Erythematosus) : โรคแพ้ภูมิตัวเอง กับอาการที่พบทางผิวหนัง

โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE คืออะไร
         
ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ  โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิในเม็ดเลือดขาวกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ที่มันไปทำลาย ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเม็ดเลือดขาวไปโจมตีอวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น

เป็นโรคอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ไม่หายขาด และก่อให้เกิดโรคได้ในหลายๆ ระบบ ( เช่น ไต ไขข้อ ระบบเลือด ระบบผิวหนัง )

โรคที่พบได้ไม่บ่อย และบางคนอาจยังไม่รู้จักโรคนี้กันเท่าใดนัก เคยมีอดีตราชินีลูกทุ่งหญิงของไทยท่านหนึ่ง ได้เสียชีวิตจากโรคนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทำให้โรคนี้ได้มีกล่าวถึงกันมากขึ้น

แต่ในวงการแพทย์โรคนี้รู้จักกันมานาน แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวกัน( connective tissue diseases) โดยมีการทำลายเนื้อเยื่อในระบบภูมิคุ้มกัน อาการทางผิวหนังเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของโรคที่สังเกตให้เห็นได้

อุบัติการณ์ของโรคนี้ พบประมาณ 2-3 คนใน 100,000 คน มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอัตราส่วน 9:1 ในช่วงอายุ 20-50 ปี อาการของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต คือภาวะแทรกซ้อนทางไต ทำให้ไตวาย และระบบประสาทส่วนกลาง

อาการของโรค ที่พบได้บ่อย คือ การปวดข้อ ข้ออักเสบ ไตอักเสบ ไข้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคโลหิตจาง เกร็ดเลือดต่ำ ผื่นทางผิวหนัง พบว่า ผู้ป่วยประมาณ 77 % หลังจากป่วยด้วยโรคนี้ และไม่ได้พบแพทย์รักษาตัวต่อเนื่อง หรือมีอาการแทรกซ้อนหลายระบบ จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี

ผื่นทางผิวหนัง ในผู้ที่ป่วยด้วยโรค SLE
แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. ระยะเฉียบพลัน (acute phase) มักพบกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบอื่น ร่วมด้วย ผื่นมีได้หลายแบบ เช่น ผื่นราบแดงหรือม่วงคล้ำ หรือ ตุ่มน้ำ แต่มักในบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น ใบหน้า และที่พบได้บ่อย คือ ลักษณะผื่นบวมนูนแดงที่แก้มทั้งสองข้าง คล้ายปีกผีเสื้อ( malar rash) ดังในภาพที่แสดง มักเกิดขึ้นทันทีที่โดนแดด บางครั้งอาจจะคัน ผื่นมักหายได้เอง ในเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ สีผิวอาจไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อหาย หรือคล้ำลงเล็กน้อย
2.ระยะกึ่งเฉียบพลัน( subacute phase) มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยถึงวัยกลางคน พบได้ประมาณ 25-85 % ของผู้ป่วยทั้งหมด
3.ระยะเรื้อรัง( chronic phase) ผื่นชนิดนี้ มักมีอาการแสดงทางระบบอื่นร่วมด้วยน้อย ประมาณร้อยละ 5-10 มักพบได้บ่อยสุดในผื่นระยะต่างๆ มีลักษณะผื่นแดง ขอบเขตชัด ตรงกลางบาง พบได้บ่อยบริเวณที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น หน้า หนังศีรษะ หู ริมฝีปากล่าง ถ้าเป็นที่หนังศีรษะมักเกิดแผลเป็น และทำให้ผมร่วง และแก้ไขให้หาย ผมก็จะไม่ขึ้นมาทดแทน
อาการที่ควรพบแพทย์
         
อาการที่พบบ่อย  มีอาการทางผิวหนัง เช่น  มีผมร่วง มีแผลในปาก จะอยู่ที่เพดานซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ  แพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ  มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก มีอาการปวดข้อ บวมแดง ร้อน นอกจากนี้ยังมีอาการที่อวัยวะภายในอื่น ๆ  เช่น หัวใจ ปอด ไจ และระบบประสาท
การวินิจฉัยและรักษา
         
การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้จากประวัติของผู้ป่วย   การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอ็กซเรย์หัวใจและปอด
          สำหรับการรักษามีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น  ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ
          ส่วนการรักษาอื่นในผู้ทีมีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น   ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น

Posted on

โรคไฟลามทุ่ง ( Erysipelas) : ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนังรุนแรง ที่ต้องรีบรักษาด่วน !

โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) คือ โรคทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเ อย่างรุนแรงในชั้นหนังแท้ (Dermis) ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ และท่อน้ำเหลืองใกล้เคียง อาการมักลุกลามอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่งจึงเป็นที่มาของชื่อโรค และยังจัดเป็นประเภทหนึ่งของโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า  
อาการของโรคไฟลามทุ่ง
มีอาการบวม แดง ร้อน มีขอบเขตชัด ผิวหนังจะขรุขระคล้ายผลส้ม อาจพบตุ่มน้ำพองใส คล้ายโรคอีสุกอีใส ได้ ซึ่งถ้ารุนแรง อาจพบผิวหนังจะลอกเป็น แผลถลอกเป็นแผ่นๆ จนถึงเซาะลึกลงไปใต้ผิวหนัง
– พบได้บ่อยในเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคระบบหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลืองไม่ดี ภาวะขาดอาหาร โดยเชื้อโรคจะเข้าทางรอยแตกแยกของผิวหนัง เชื้อโรคที่พบได้บ่อย คือ จาก Streptococcus group A แต่ในเด็กเล็กอาจพบอาจเชื้อโรค Haemophilus influenzae type B

แนวทางการรักษา
เป็นภาวะฉุกเฉินทางผิวหนัง ที่ต้องรีบพบแพทย์ เนื่องจากในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีอาการสงสัย ดังในภาพ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะแพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุ เพื่อจะให้ยาปฏิชีวนะได้ถูกต้องตามชนิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ส่วนใหญ่แพทย์จะให้นอนพักที่ รพ. เพื่อสังเกตอาการ
  2. มักให้พักบนเตียง นอนยกขาสูง ไม่ให้เคลื่อนไหวมาก
  3. ทำความสะอาดผิวหนัง ด้วยยาฆ่าเชื้อโรค ทุกวัน
  4. แนะนำไม่ให้แกะเกาแผล
  5. ให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค อาจในรูปยารับประทาน หรือยาฉีด ตามผลการตรวจเพาะเชื้อ หรือตามที่พบในกล้องจุลทรรศน์จากการย้อมสีแกรม

Posted on

เป็นเหา ( Lice) คันหนังศีรษะ อยากหาย ทำไงดี

เหา แมลงไร้ปีกที่มีขนาด 1-2 มม. พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เหาจะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร ในน้ำลายของเหามีสารที่ระคายผิวหนังได้ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงรอยกัด
เหา มีลำตัวเรียวยาวดังภาพ มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว จึงติดต่อกันได้ง่ายมาก พบว่าเด็กผู้หญิงที่มีเหาที่หนังศีรษะ สามารถแพร่การติดเชื้อให้แก่เพื่อนๆ ภายในชั้นเรียนเดียวกัน ภายใน 24 ชม. ไข่มีขนาดเล็ก ประมาณ 0.5 มม.ฟักเป็นตัวอ่อน ของเหา ภายใน 1 สัปดาห์ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

แนวทางการรักษา 

  1. เดิมใช้วิธีโกนผมออกให้หมด ซึ่งที่จริงใช้รักษาได้ผลดี เพราะเหาไม่มีที่ยึดเกาะ แต่ก็ในแนวทางปฏิบัติ คงทำได้ยาก เพราะคงไม่อยากมีใคร เป็นโล้นซ่าส์ได้ง่ายๆนัก โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง การใช้หวีที่มีซี่ถี่ๆ สางตัวเหาออก้เป็นอีกวิธีทีนิยม แต่เหามักจะไม่หมด
  2. ปัจจุบัน มีตัวยาที่ใช้ฆ่าเหา และไข่เหาได้ผลดี คือ Gamma benzene hexachoride ใช้ทาทั่วศีรษะ หลังสระผมให้สะอาดแล้ว แล้วทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง และสระผมซ้ำล้างออก โดยจะฆ่าตัวเหาได้หมด แต่ไข่เหายังไม่หมด จึงแนะนำให้ทายาซ้ำอีก 1 สับดาห์ แล้วใช้หวีซี่ถี่ๆ สางผมให้ไข่เหาหลุดออก
  3. นำเครื่องใช้ของผู้ติดเหาไปล้างทำความสะอาด ส่วนเครื่องนุ่งห่ม ให้นำไป ตากแดดหรือเข้าเครื่องอบผ้า

Posted on

เชื้อราที่เล็บ (Fungal Nail Infection : Onychomycosis ) สาเหตุจากอะไร สังเกตยังไง รักษาแบบไหนดี

การติดเชื้อราที่เล็บ เป็นความผิดปกติของเล็บที่พบกันบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดในสตรี มากกว่าบุรุษ โดยพบที่เล็บเท้า บ่อยกว่าเล็บมือ เพราะมีความอับชื้นสูงกว่า ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสก่อโรคมากกว่า

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดเชื้อราที่เล็บ คือ

1. เบาหวาน
2. ความชรา
3. ภาวะการไหลเวียนของเลือดต่ำ
4. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ โรคเอดส์ ซึ่งในปัจจุบัน คนไข้ที่มาพบแพทย์ผิวหนัง ด้วยเชื้อราที่เล็บ ทั้งมือ และเท้า และเป็นมากๆ ทุกนิ้ว และพบว่าผู้ป่วย อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ไม่มีอาการของโรคอื่นๆ มักแนะนำให้ตรวจเลือดหาเชื้อ เอชไอวี
สาเหตุ: ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา Dermatophyte แต่อาจเกิดจากยีสต์ก็ได้ เช่น C.albicans
ลักษณะอาการที่พบ มักเกิดจากบริเวณปลายเล็บ หรือ ซอกเล็บด้านข้างก่อน แล้วเชื้อราจะลุกลามแทรกเข้าไปใต้เล็บ ทำให้เกิดการแยกตัวของเล็บกับเนื้อข้างใต้ และมีขุยใต้เล็บมาก ทำให้ตัวเล็บดูขุ่นขาว ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามทั่วเล็บ ทำลายเล็บ ทำให้เล็บเสียรูปทรง ทำให้ดูไม่สวยงาม และมักไม่ค่อยมีอาการอื่น เช่นการอักเสบ หรือ ปวดเล็บ

แนวทางการป้องกัน คือ ต้องระวังไม่ให้เล็บมือ เล็บเท้าอับชื้น หลีกเลี่ยงการแช่มือ เท้า ในน้ำนานๆ เช่น บางคนชอบไปทำเล็บที่ร้านเสริมสวย และมักติดเชื้อราที่เล็บกลับมาเป็นของแถม ได้บ่อยๆ ไม่ควรใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกับคนอื่น

แนวทางการรักษา 

1. ยาฆ่าเชื้อรา ชนิดรับประทาน เป็นการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัว ที่ได้ผลดี ระยะเวลาในการรักษาก็แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยา กรณีที่รับประทานสะดวก ใช้เวลาไม่มากนัก ก็จะราคาแพง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ดีกว่าจะเลือกซื้อยามารับประทานเอง
2. ครีมทาฆ่าเชื้อรา ใช้ทาที่เล็บมักไม่ค่อยได้ผล เนื่องจาก ตัวยาไม่สามารถซึมผ่านเล็บไปได้ ยกเว้นกรณีที่พบเป็นขุยๆ ที่ขอบเล็บไม่มาก
3. ในปัจจุบัน ในยุโรป ได้มียาทารักษาเชื้อราที่เล็บชนิดใหม่ เรียกว่า Ciclopirox nail laqure ซึ่งตัวยาทาเล็บนี้ จะติดทน และซึมผ่านเล็บไปยับยั้งเชื้อราได้ โดยให้ทาวันเว้นวันในช่วงแรก แล้วค่อยๆ ลดความถี่ในการทาลง ภายใน 6 เดือน
4. ไม่แนะนำให้ถอดเล็บ เนื่องจากไม่ได้ผล ฆ่าเชื้อราไม่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เจ็บปวด และทำลายเนื้อเยื่อเซลล์ ( Nail matrix) ทำให้เล็บที่จะงอกใหม่บูดเบี้ยว หรือผิดรูปอย่างถาวรได้

Posted on

โรคปากนกกระจอก( Angular stomatitis) เป็นก็ง่าย หายก็ยาก สาเหตุมีมาก ไม่ใช่เฉพาะขาดวิตามิน

โรคปากนกกระจอก คือ ภาวะอักเสบบริเวณมุมปาก เกิดแผลบริเวณมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน มีรอยแตก และแยกออกจากกัน ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 ( Riboflavin) แม้แต่แพทย์ทั่วไปหลายๆ ท่าน ก็ทำการรักษาโดยให้วิตามินบี 2 ทั้งๆ ที่สาเหตุจากการขาดวิตามินดังกล่าว พบได้น้อยมาก
ลักษณะอาการที่พบ คือ จะมีการหลุดลอกของเซลล์หนังกำพร้าบริเวณมุมปาก แล้วต่อมาเกิดเป็นแผล และอาจติดเชื้อแบดทีเรียแทรกซ้อน อักเสบ ปวดเจ็บได้

สาเหตุของโรคปากนกกระจอก แบ่งได้ดังนี้

  1. ปัญหาของโรคผิวหนังเอง เช่น Atopic dermatitis, Seborrheic dermatitis ทั้งสองแบบนี้ เป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด 
  2. ผู้ป่วยสูงอายุ ที่ไม่มีฟัน ทำให้รูปปากผิดปกติ ทำให้เกิดการอับชื้นที่มุมปาก เกิดการติดเชื้อจากเชื้อราได้
  3. การขาดอาหาร ได้แก่ การขาดวิตามินบี 2 การขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซี และการขาดโปรตีน(พบได้น้อย)
  4. การติดเชื้อแทรกซ้อน จากเชื้อแบคทีเรีย
  5. ภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ ( Hypersalivation)

แนวทางการป้องกันและรักษา 

  1. หาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอก แล้วรักษาที่สาเหตุ อาการดังกล่าวจะหายได้
  2. ทำความสะอาดช่องปาก เช็ดมุมปากให้แห้งตลอดเวลา
  3. กรณีที่ไม่ได้ใส่ฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา
  4. การใช้ยาป้ายแผลในปาก เช่น kenalog in oral base ได้ผลดีในแง่แผลที่เกิดจากภาวะอักเสบจากภูมิแพ้

ดังนั้น กรณีที่เป็นปากนกกระจอก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นโรคขาดอาหารเสมอไป ควรมองหาสาเหตุข้างต้นด้วย เพื่อจะได้รักษาได้ตรงสาเหตุ 

Posted on

Winter itch : ผิวแห้ง คัน แตกลายตามขวาง ในผู้สูงอายุ หรือคนที่อาศัยในที่หนาวจัด นานๆ

Winter Itch คือ ภาวะผิวหนังอักเสบ แห้ง แตกเป็นขุย และมีรอยแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามขวาง( cracking ) มักไม่ค่อยมีอาการคัน พบได้บ่อยบริเวณ หน้าแข้ง รองลงมาก็คือ ต้นขา แขน มือ และลำตัว
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดนี้ มักเกิดในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อาศัยในบริเวณที่หนาวจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว หรือผู้ที่มีปัญหาผิวหนังแห้ง และอยู่ในห้องแอร์นานๆ
กลไกการเกิดโรค ที่แท้จริง ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น
– ภาวะผิวแห้ง
– การลดลงของไขมันใต้ผิวหนังในคนสูงอายุ
– ภาวะทุพโภชนาการ
– การลดลงของระดับฮอร์โมน
– การระเหยของน้ำจากผิวเพิ่มขึ้นเมื่ออากาศแห้ง ในฤดูหนาว
– การอุ้มน้ำของผิวหนังลดลงจากการถูกทำลายยสารระคายเคือง หรือการแพ้

แนวทางการป้องกันและรักษา 

  1. แนะนำให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด
  2. ใช้สบู่ที่มีความเป็นกลาง ไม่มีฟอง หรือเลือกสบู่อาบน้ำที่มีสารเคลือบผิวกันการสูญเสียน้ำ เช่น Bath oil ที่ผสม Ceramide หรือสาร Emolients อย่างอื่นเช่น Lanolin
  3. ถ้าผิวหนังอักเสบ คัน อาจให้ทาด้วยครีมที่ผสมเสตียรอยด์ชนิดอ่อน หรือ ที่ผสมยูเรีย ให้ความชุ่มชื้น เช่น Urea in TA cream
  4. ทาครีมบำรุงเป็นประจำ
Posted on

ลมพิษ ( Urticaria) ตุ่มนูน คัน ทำไมยิ่งเกา ยิ่งลาม

ลมพิษ เป็นภาวะที่เกิดตุ่มนูน คัน ผื่นแพ้ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งมีอาการคัน เป็นอาการนำ ซึ่งถ้ายิ่งเกา อาการคันจะยิ่งมากขึ้น และอาจลุกลามให้เป็นมากขึ้น ขนาดโตขึ้น อาจพบอาการแพ้รุนแรง จนเกิดอาการบวมขึ้น บริเวณใบหน้า หนังตา และปาก บางครั้งอาจทำให้หลอดลมบวมได้ ซึ่งเกิดผลต่อระบบหายใจ ทำให้หายใจลำบากได้
– การเกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ขอบเขตไม่เรียบนี้ ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบการบวมของเซลผิวหนัง จากการไหลซึมเข้าของน้ำเหลือง จากหลอดเลือด ซึมผ่านเข้าไป เนื่องจาก เมื่อเกิดปฏิกริยาแพ้ จากสารที่ทำให้แพ้ ที่เรียกว่า แอนติเจน
ซึ่งเมื่อสัมผัส หรืออยู่ในร่างกาย แอนติเจนจะทำการจับกับสารต้าน ที่เรียกว่า Immunoglobulin E แล้วหลั่งสารที่เรียกว่า Histamine ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผนังหลอดเลือดขยายตัว จึงทำให้น้ำเหลืองใหลออกนอกเส้นเลือด เข้าสู่ผิวหนังข้างเคียง เมื่อปฏิกริยาสิ้นสุดลง หรือได้รับการรักษา น้ำเหลืองจะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในหลอดเลือด ผื่นจึงยุบลง ไม่หลงเหลืออาการให้เห็น

ทำไมยิ่งเกา ยิ่งลาม
การที่ลมพิษ ยิ่งเกายิ่งลุกลาม เนื่องจากการเกา จะกระตุ้นให้ปฏิกริยาการแพ้เป็นมากขึ้น สารจะหลั่ง histamine มากขึ้น จึงทำให้เกิดการลุกลามขยายใหญ่ ของตุ่มนูน เนื่องจากน้ำเหลืองใหลออกจากผนังหลอดเลือดเข้าเซลล์มากขึ้น จึงไม่ควรเกาถ้าเกิดลมพิษ
สาเหตุการเกิด
แอนติเจน หรือ สารก่อการแพ้ อาจเกิดจาก อาหาร ยา ( ที่พบบ่อย คือ เพนิซิลิน แอสไพริน และยาซัลฟา) ฝุ่นละออง เชื้อโรค ความเย็น ฯลฯ ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ ควรสังเกตว่า แอนติเจนใดที่ก่อให้เกิดการแพ้ ลมพิษ ให้พยายามหลีกเลี่ยง
แนวการการแก้ไข 

1. ยาทา เช่น calamine lotions หรือ ครีมสเตียรอยด์ ในกรณีที่เป็นไม่มาก
2. ยารับประทาน ที่นิยมใช้บ่อยๆ ก็คือ ยากลุ่มต้านอีสตามิน( antihistamine) ที่รู้จักกันดี ก็คือ ยาคลอเฟนฟีนีคอล(CPM) เม็ดสีเหลือง เพราะหาง่าย ราคาถูก( ต้นทุน ประมาณ 30 สตางค์ต่อเม็ด) แต่มักมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนได้ ดังนั้น อาจเลือกไปใช้ยากลุ่ม antihistamine ที่มีอาการง่วงน้อย เช่น hiamanol แต่ก็จะมีราคาแพง(ต้นทุน ประมาณ เม็ดละ 4-5 บาท)
3. กรณีที่เป็นรุนแรง ที่วตัว ควรพบแพทย์เพื่อใช้ยาฉีด
4. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่เกิด ในกรณีที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องพบยาทา และยากินไว้ติดตัวตลอดเวลา

Posted on

เริม ( Herpes Simplex ) ตุ่มน้ำพองใส เริ่มเป็นเมื่อไหร่ ทำใจเลยว่า ไม่หายขาด

เริม (Herpes) คืออาการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) โดยเชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1) ก่อให้เกิดอาการ เริมที่ปาก (Herpes Orolabialis)
  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2) ก่อให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ (Herpes Genitalis)
    การติดต่อ
    – เริมที่ปาก ติดต่อ โดยการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ หรือ การใช้ภาชนะอาหารที่ไม่สะอาดเพียงพอร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเริม และไม่มีอาการให้เห็นขณะที่มีการติดเชื้อ โดยพบว่าในน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อเริมที่ไม่ปรากฏตุ่มน้ำให้สังเกตเห็น สามารถติดต่อได้ ถึงร้อยละ 5 ในผู้ใหญ่ และร้อยละ 20 ในเด็ก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะป้องกัน
    – เริมที่อวัยวะเพศ ติดต่อ โดยการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ โดยทางเพศสัมพันธ์ ไม่ค่อยพบว่าติดต่อโดยวิธีอื่นๆ

อาการของเริม
โดยรวมแล้วอาการของเริมที่ปาก และเริมที่อวัยวะเพศนั้นค่อนข้างคล้ายกัน โดยจะมีตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ ได้แก่ ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา มีอาการเจ็บปวด แสบที่บริเวณแผล หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและหายช้า แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เร็วกว่า
– เริมในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV มักพบได้รุนแรง อาจจะเป็นแผลเรื้อรังและเกิดการอักเสบหนองลุกลาม

แนวทางรักษา: 

1. ในการรักษาโรคเริมที่มักไม่หายขาด เนื่องจากเชื้อมักจะหลบอยู่ที่ไขสันหลัง เมื่อเกิดภาวะร่างกายอ่อนแอ เครียด อาจมีอาการซ้ำได้
2. ในรายที่เพิ่งได้รับการติดเชื้อเริมครั้งแรก แพทย์อาจให้รับประทานยา Acyclovir วันละ 200 มก. ทุก 5 ชั่วโมง นาน 7-10 วัน พร้อมกับการทายาบริเวณรอยโรค อาจทำให้อาการรุนแรงลดลง และย่นระยะเวลาการหายของโรค
3. ในรายที่เป็นซ้ำ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ใช้ยาทาบริเวณแผล ก็จะทำให้หายได้ภายใน 2-3 วัน
4. ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง และมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจต้องพบแพทย์ และนอนรพ. เพื่อให้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อป้องกันการลุกลามรุนแรง



Posted on

โรคด่างขาว(Vitiligo) : ความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสี มีการรักษาอย่างไร ให้ดีขึ้น

โรคด่างขาว เป็นภาวะของโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ที่ทำให้ร่างกายสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสีผิว( Melanocyte) ทำให้เกิดลักษณะบริเวณดังกล่าว เกิดเป็นรอยด่างสีขาว มีขอบเขตชัด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับรอยด่างในเกลื้อนแดด(P.alba) ในบทความที่ผ่านมา จะมีขอบเขตไม่ชัด และสีไม่ซีดขาวมากเหมือนภาวะโรคด่างขาว
มักพบในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเชื่อว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรม หรือ ภาวะภูมิคุ้มกัน เกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคด้วย
ลักษณะ สีผิวตรงรอยด่างขาว จะพบเป็นผื่นราบ( macule) หรือ เป็นปื้นๆ( patch) สีขาวเหมือนน้ำนม มีขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างและจำนวนรอยด่างแตกต่างกัน และขนาดไม่แน่นอน ภายในรอยด่าง อาจมีสีน้ำตาลของสีผิวหลงเหลืออยู่
ตำแหน่งที่พบ พบได้บ่อยที่ ใบหน้า มือ เท้า และผิวหนังเหนือข้อ แต่อาจพบที่รอบทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศได้ มักมีการกระจายเท่ากัน ทั้งซ้าย ขวาของร่างกาย และเมื่อเกิดมักจะไม่หายขาด แต่โดยทั่วไป สุขภาพร่างกายจะยังแข็งแรง ประกอบอาชีพได้ตามปกติ
โรคด่างขาวแยกจากโรคกลากเกลื้อนได้อย่างไร โรคด่างขาว แยกได้ง่ายจาก โรคเกลื้อนจากเชื้อรา( Tinea vesicolor) และเกลื้อนแดด( P.alba) เพราะลักษณะที่เห็นขอบเขตชัด ถ้าต้องการยืนยัน การตัดชิ้นเนื้อไปส่องกล้องจุลทรรศน์ โรคด่างขาวจะไม่พบเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) และเม็ดสีเมลานิน ในขณะที่โรคกลาก เกลื้อน ยังพบเซลล์เม็ดสีปกติ

การรักษาโรคด่างขาว
โรคด่างขาวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการหรือทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏดูดีขึ้น คนที่เป็นโรคนี้ ก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพด้านอื่น หรือระบบอื่น และไม่ติดต่อไปยังคนรอบข้าง หรือคู่สมรส ส่วนวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการของผู้ป่วย
แนวทางการรักษา
ที่แพทย์ผิวหนังใช้พิจารณา มีหลักการดังนี้
1. ป้องกันแสงแดด โดยให้พยายามหลบเลี่ยงแสงแดด หรือ ทาครีมกันแดดบริเวณรอยด่างขาว เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้ และรอยโรคเป็นมากขึ้น ในอตีดได้มีการให้ยาทา Meladinnine แล้วให้ผู้ป่วยไปตากแดด ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะอาจเกิดการอักเสบไหม้ แสบคันได้
2. กระตุ้นสีผิวให้กลับคืน ทำได้กรณีที่บริเวณรอยด่างขาว ยังพอมีเซลล์สร้างเม็ดสีหลงเหลือบ้าง โดยการฉายแสงแบบ PUVA (psovalen+UVA) ได้ผลประมาณ 50 %
3. การปลูกถ่ายผิวหนัง เพื่อให้มีเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน แต่ยังเป็นเทคนิดที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่
4. การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาที่จะช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวขึ้นมาใหม่โดยการใช้เอ็กซ์ไซเมอร์ เลเซอร์ (Excimer Laser) แต่เป็นวิธีที่ใช้กับพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น และมักใช้รักษาร่วมกับการใช้ยาทาผิว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แดงและแผลพุพอง
5. วิธีฟอกสีผิว (Depigmentation) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีด่างขาวแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างและการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยจะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของโมโนเบนโซน (Monobenzone) ทาลงไปบนผิวหนังที่ยังมีสภาพปกติ ซึ่งจะช่วยทำให้สีผิวค่อย ๆ ขาวขึ้นจนใกล้เคียงกับผิวที่เกิดด่างขาว
5. การใช้เครื่องสำอาง ทาบดบังรอยโรค กรณีรายที่รักษาไม่ได้ผล

Posted on

หูดหงอนไก่ (Genital warts) : ติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด

หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) คือ หูดที่พบขึ้นบ่อยบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus – HPV) โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด
ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ ในช่วงอายุ 17-33 ปี ทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า “หงอนไก่“, “หูดอวัยวะเพศ” หรือ “หูดกามโรค” และมักพบการติดเชื้อได้สูง ในกลุ่มที่ภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี
ลักษณะอาการ : มักพบเป็นติ่งเนื้อสีชมพูรวมกันเป็นก้อน คล้ายหงอนไก่ มีจำนวนและขนาดแตกต่างกัน อาจพบได้มากกว่า 1 แห่ง พบบ่อยที่บริเวณ คอคอดของอวัยวะเพศชาย หรือเส้นสองสลึง ,แคมช่องคลอด และปากมดลูกของเพศหญิง ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องปาก ลำคอ หลอดลม เป็นต้น
ปกติไม่มีอาการอะไร ยกเว้นมีการฉีกขาดเลือดออก หรือ ติดเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้อักเสบเป็นหนอง

แนวทางการรักษา 

1. จี้ด้วย น้ำยา 20-40 % Podophylline หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป จะมีวิธีการใช้อธิบายอย่างละเอียดในกล่อง ทำใด้ทุกอาทิตย์ จนกว่าจะหลุดหมด
2. แต้มด้วย 50 % TCA แต่ต้องไปทำที่คลินิกแพทย์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าแต้มเกิน 6 ครั้ง ยังไม่หายขาด
3. จี้ด้วยไฟฟ้า หรือจี้ด้วยความเย็น หรือทำ เลเซอร์ ด้วย CO2 laser
หากคู่นอนมีอาการของหูดหงอนไก่ ควรพาอีกคนมาพบแพทย์และรักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำไปมาซึ่งกันและกันหลังการรักษา
ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้
วิธีป้องกันหูดหงอนไก่
1.มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน
2. หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
3. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ได้ตามรพ. หรือคลินิกที่มีให้บริการ โดยแนะนำให้ฉีดได้ทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี เพื่อการป้องกันหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก

Posted on

โรคหิด (Scabies) ติดแล้วจะคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน ป้องกัน รักษาอย่างไร

โรคหิด(Scabies) เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหิด หรือจากเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ซึ่งอาจจะมีหิดตัวเมียเกาะอยู่ ซึ่งอยู่ได้นานถึง 24-36 ชั่วโมง โดยหิดจะเคลื่อนเข้าหาอุณหภูมิที่อุ่นกว่าและสภาพแวดล้อม เมื่อได้กลิ่นคน
ตัวหิด(Sarcoptes scabiei var.homonis) คือแมง 8 ขา ในกลุ่มเดียวกับ ไร(mites) เล็นไร(Demodex) และเห็บ(Ticks) ปกติจะอยู่ในโพรงเล็กๆของหนังกำพร้าใต้ต่อชั้นขี้ไคล ตัวอ่อนโตเต็มที่ใช้เวลา 14-17 วันเมื่อผสมพันธุ์แล้ว หิดตัวผู้จะตาย
พบได้บ่อยแค่ไหน พบชายมากกว่าหญิง 2:1.7 และมีการระบาดทุก 10-15 ปี พบได้บ่อยในชุมชนแออัด หรือที่มีสุขอนามัยไม่ดี เช่น สลัม คุก ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากติดหิดแล้ว ประมาณ 1 เดือนในการติดครั้งแรก และจะมีอาการทันทีเมื่อมีการติดหิดครั้งต่อๆมา
อาการที่พบ :  ผื่นของหิดจะคันมาก เกิดหลังติดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์โดยเฉพาะเวลากลางคืน อาการคันและผื่นเกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของร่างกายต่อตัวหิดหรือสิ่งขับถ่ายของหิด
      ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดงคัน ผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บริเวณที่พบผื่นได้บ่อยคือ ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับแขน รักแร้ เต้านม อวัยวะเพศ รอบสะดือ และก้น ในเด็กอาจพบผื่นบริเวณหน้าและศีรษะ
ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะทำให้การขยายพันธุ์ของหิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดผื่นมีสะเก็ดแห้งขุยหนา ภายในสะเก็ดแห้งมีตัวหิดอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้แพร่เชื้อได้ง่าย

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นหิด ?
          1. การซักประวัติ ผื่นที่มีอาการคันมาก และพบสมาชิกครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่มีอาการพร้อมๆกัน
            2. การตรวจร่างกาย พบผื่นที่มีลักษณะจำเพาะเห็นเป็นเส้นเล็กๆ คดเคี้ยวที่ง่ามนิ้วเรียกว่า อุโมงค์หิด 
            3. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยขูดบริเวณผื่นคันหรืออุโมงค์หิด จะพบตัวหิด,ไข่ หรือสิ่งขับถ่ายของหิดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างร่วมกัน           
การรักษาหิด
ยาทา
การทายาควรสวมถุงมือยางเมื่อทายาให้ผู้ป่วย ทายาหลังอาบน้ำตอนเย็น ทายา”ทั้งตัว”ตั้งแต่คอลงไป ไม่ควรเลือกทาเฉพาะส่วนที่มีผื่นเท่านั้น เด็กเล็กให้ทาทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะ หน้า คอ ใบหู โดยเฉพาะหลังหู ร่องก้น ง่ามนิ้วและใต้เล็บ  ทายาทิ้งไว้ 8-14 ชั่วโมงแล้วล้างออกในตอนเช้า ทาซ้ำตามรายละเอียดของยาแต่ละตัว
            1. Permethrin cream  ใช้ได้ดีกับผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 2 เดือน ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์
            2. 5-15% sulfur เป็นยากำมะถัน ใช้ได้ดีและค่อนข้างปลอดภัย ใช้ได้ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรทายาทั่วตัว 3 วันติดต่อกัน ข้อเสียคือ ยามีกลิ่นเหม็นและเหนอะหนะ
            3. 10-25% Benzyl benzoate ใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ ยาอาจมีแสบระคายเคืองได้
ยารับประทาน
        
  1. Ivermectin รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม มีประสิทธิภาพรักษาหิดได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย
         
2. การรับประทานยาแก้คัน จะช่วยบรรเทาอาการคันได้
         
3. ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าหลังได้รับการรักษาหิดแล้ว ยังพบตุ่มคัน นูนไม่หาย
          4. ยาปฏิชีวะนะ
กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จากการเกาจนเป็นแผล

การป้องกันการแพร่กระจายของหิด
            – ควรรักษาสมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมๆกัน โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ถึงแม้ไม่มีอาการ ก็จำเป็นต้องรักษา เพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัว
            – ทำความสะอาดเครื่องใช้ ส่วนตัวทุกอย่าง ด้วยการซักน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที สำหรับเครื่องนุ่มหุ่มที่ซักไม่ได้ เช่น หมอนและพรม ควรอบแห้ง 50oC 20 นาที หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดปากแน่น อย่างน้อย 7 วัน
            – ทำความสะอาดพื้น ดูดฝุ่นพรมและเฟอร์นิเจอร์
            – แยกของใช้ส่วนตัว หวี ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม และที่นอน ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
            – ตัดเล็บสั้นและตะไบเล็บให้ไม่คม ไม่แคะแกะเกาผื่นคัน ให้เชื้อหิดกระจาย

Posted on

แผลร้อนใน (Aphthous ulcer) กินอะไรไม่ได้ เป็นบ่อยๆ ป้องกัน รักษาอย่างไรให้หายขาด

38105393 – close up children with aphtha on lip

แผลร้อนใน อาการเจ็บปาก ปากเปื่อยเป็นแผล เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ก็คือ แผลแอฟทัส (Aphthous Ulcer)
ลักษณะ เป็นแผลเล็กๆ ตื้นๆ มีอาการเจ็บ มักเกิดบริเวณ เยื่อบุช่องปาก อาจมีแผลเดียว หรือหลายแผลก็ได้ มักหายโดยไม่มีแผลเป็น ภายใน 5-10 วัน
สาเหตุของการเกิดแผล ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และอาจเป็นอาการของโรคใดโรคหนึ่งได้ ดังนั้นถ้าเป็นบ่อยๆ อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพิ่มเติม

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผลในปาก 

1. การติดเชื้อ – เชื้อที่พบมักเป็นจำพวกแบคทีเรีย แกรมบวก-Streptpcoccus sanguis
2. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เช่นในช่วงมีประจำเดือน
3. ความเครียด
4. การพักผ่อนไม่เพียงพอ
5. มีการระคายเคืองภายในช่องปาก เช่น สารบางชนิดในยาสีฟันหรืออาหาร : ถือว่าพบบ่อยที่สุด และมักจะพบได้หลายๆ ที่ อาจจะที่ลิ้น หรือเพดานปาก
6. การขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก ฯลฯ

การวินิจฉัยแยกโรค
โรคนี้เป็นสิ่งที่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม อาการปากเปื่อยเป็นแผลยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น
– ถูกแปรงสีฟันครูดหรือกระแทก
– ถูกฟันกัด ถูกฟันปลอมเสียดสี
– แผลเริมขึ้นที่ปาก จะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นเป็นกระจุกเดียวตรงริมฝีปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นๆ เจ็บเล็กน้อย
– แผลมะเร็งในช่องปาก พบมากในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่กินหมาก จุกยาฉุน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพียวๆ มีลักษณะขอบหนา สกปรก มีกลิ่น และมักไม่เจ็บ

แนวทางการรักษา 

  1. บ้วนปากให้สะอาด ด้วยน้ำเกลืออุ่น แล้วทายาป้ายแผลในปาก อาทิ Kenalog in Oralbase เพื่อลดการอักเสบ
  2. ยารับประทาน พวกปฎิชีวนะ อาทิ Metronidasole 200 มก. รับประทาน 2 เม็ด 3 เวลา หลังอาหาร กรณีที่มีการอักเสบมาก และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เพื่อระงับ การมีกลิ่นปาก
  3. เปลี่ยนยาสีฟันที่ใช้อยู่ประจำ มักพบคนไข้บางคน แพ้สารที่ทำให้เกิดความรู้สึกซ่า สดชื่น ในยาสีฟันบางชนิด เช่น ดาร์กี้ คอลเกต หรือ ใกล้ชิด ฯลฯ แนะนำให้ใช้ยาสีฟัน รสจืด แทน
  4. ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย วันละ 10-12 แก้ว เพื่อลดการอักเสบ และทำความสะอาดช่องปาก
  5. รับประทานอาหานที่มีวิตามิน บี 12 ธาตุเหล็ก ในกรณีที่ขาดสารอาหาร
  6. ถ้าแผลเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์ และปฏิบัติตาม ที่แนะนำแล้วยังไม่หาย อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างอื่น
Posted on

Telangiectasia: เส้นเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติ ทำให้ผิวหน้า ผิวกาย แดงง่าย ไม่ขาวใส

Telangiectasia เป็นภาวะความผิดปกติ จากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอย(capillaries) มีลักษณะเห็นเป็นเส้นแขนงเส้นเลือดฝอยสีแดง แตกเป็นกิ่งก้านสาขาบริเวณผิวหนัง ภาวะนี้จากเกิดเฉพาะที่ หรือเกิดทั่วร่างกายก็ได้ ลักษณะของเส้นเลือดฝอยบนใบหน้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. Facial Telangiectasias เป็นลักษณะที่พบได้บ่อย มักอยู่ตามบริเวณแก้มและปีกจมูก
สาเหตุที่เกิด 
1. ภาวะโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็ง จะพบลักษณะเส้นเลือดฝอยแบบนี้ได้บ่อยๆ
2. การใช้ยาทาแก้แพ้ ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์นานๆ
3. การใช้ยาทาฝ้า ที่มีส่วนผสมของสารไฮโดรคลิโนนความเข้มข้นสูงๆ เช่น 5% Hydroquinone
4. โรคทางพันธุกรรม
5. โรค SLE
6. ไม่ทราบสาเหตุ
2. Spider Telangiectasias มีลักษณะเป็นเส้นใยแมงมุม มีจุดแดงตรงกลางและมีเส้นเลือดฝอยแผ่กระจายกิ่งก้านสาขา เมื่อสัมผัสจะรู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ
สาเหตุที่เกิด 
มักจะเกิดจากฮอร์โมนEstrogen สูงกว่าปกติ เช่น ในผู้หญิงตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิด

การรักษา 
– ถึงแม้ว่าเส้นเลือดฝอยบนใบหน้าจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้คงดูไม่ดีแน่ จึงควรหาวิธีการรักษาก่อนที่เส้นเลือดฝอยจะลุกลามไปทั่วแก้ม เพราะจะทำให้หน้าเป็นรอยแดง และอาจจะเห็นชัดมาก เวลาร้อนจัด หรือดื่มอัลกอฮอล์ จนคนอื่นอาจเข้าใจผิดคิดว่าไปโกรธใครมาถึงได้เลือดขึ้นหน้าขนาดนี้ วิธีการรักษามีดังนี้
1. รักษาตามสาเหตุของโรคที่ตรวจพบร่วมด้วย
2. การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electric cautery) ทำให้เส้นเลือดอุดตันหรือฝ่อไป มักใช้ในกรณีที่เส้นเลือดขนาดเล็กกว่า 1 มม. และไม่อยู่ในบริเวณใบหน้า
3. การใช้ เลเซอร์ Pulsed Dye Laser (V-Beam ) ซึ่งความยาวคลื่น 595 นาโนเมตร ปัจจุบันถือว่าเป็น Gold Standard Treatment ที่นิยมในปัจจุบัน เพราะได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อยและได้ผลเร็ว เหมาะกับลักษณะของเส้นเลือดที่มีขนาด 0.2 – 1 มิลิเมตร
4. เลเซอร์ Long pulse Nd:YAG ( Genle YaG laser ) ที่มีความยาวคลื่น 1,064 นาโนเมตร เหมาะกับลักษณะของเส้นเลือดที่มีขนาด 1 – 2 มิลิเมตร
5. การฉีดสาร Sclerosing agents หรือ Hypertonic saline มักใช้ในกรณีที่เส้นเลือดขนาดมากกว่า 1 มม. และไม่อยู่ในบริเวณใบหน้า

Posted on

โลน (Crab louse ) แมลงตัวเล็ก ในร่มผ้า สาเหตุที่ทำให้คัน ติดต่อกันทางเพศสัมพันธุ์

โลน ( Crab louse หรือ Phthiriasis pubis) เป็นปรสิตที่พบเฉพาะในมนุษย์ ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโลน โดยพบว่าเพียง 1 ครั้งที่มีเพศสัมพันธุ์กับผู้ติดเชื้อโลน จะมีโอกาสติดได้ถึง 95 %
ลักษณะอาการที่พบ คือ มีผื่นสีน้ำเงินเทาๆ เล็กๆ ตามตัว เส้นผ่าศูนต์กลางไม่เกิน 1 ซม. โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกริยาของน้ำลายโลนกับเลือด และจะพบตัวโลนได้ถึง 30 วันก่อนจะมีอาการดังกล่าว
บริเวณที่พบตัวโลนและไข่ พบบ่อยที่ขนในอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ถ้ามีจำนวนมาก อาจพบบริเวณขนสั้นๆ ได้ เช่น ที่รักแร้ ขนตามตัว คิ้ว ขนตา (โดยเฉพาะในเด็ก)
การวินิจฉัยว่าติดเชื้อโลน ก็คือ การได้พบตัวโลน (ดังในภาพที่1) และไข่โลนติดที่ขน โดยบางครั้งในนิ้วมือสางขน อาจรู้สึกสากมือเหมือนลูบด้วยเม็ดทราย ตัวโลนจะมีลักษณะสีขุ่นขาว ขนาดประมาณ 0.5-1 มม.มี 4 ขา

แนวทางการรักษา 

1. ฟอกตัวด้วยแชมพู ที่ผสม 1% Gamma benzene hexacholride (Lindane) ประมาณ 4 นาทีแล้วล้างออก แล้วทำซ้ำอีก 1 สัปดาห์ต่อมา
2. ทา 5% Pyretrin creams ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงแล้วล้างออก
3. ทา Jacutin creams (HEXACHLOROCYCLOHEXANE ISOMERE GAMMA) บริเวณขนที่สงสัย ทั้งไว้ทั้งคืน ติดต่อกัน 3 วัน
4. ฟอกตัวด้วย Pyretrin shampoo ฟอกทิ้งไว้ 10 นาที วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วันกรณีที่เป็นทั้งตัว
5. โลนที่ขนตา อาจจะต้องจับออก หรือทา Petrolatum วันละ 2 ครั้ง เพื่อรบกวนการหายใจของตัวโลน
6. ยารับประทานกลุ่ม Cotrimoxazole (Bactrim) ได้มีรายงานว่าได้ผล เพราะไปรบกวนการสร้างวิตามินบี ที่จำเป็นสำหรับโลน
7. กรณีไม่หายขาด ควรรักษาคู่นอนด้วย หรือ อาจจะทายาไม่หมด
8. ควรทำความสะอาดที่นอน เครื่องใช้ให้สะอาด และผึ่งตากแดด เพราะตัวโลน ถ้าอยู่นอกร่างกายมนุษย์มักจะตายภายใน 1 วัน

Posted on

งูสวัด( Herpes zoster) คืออะไร ถ้าเป็น รอบตัวครบวง ทำให้เสียชีวิตได้ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

งูสวัด เป็นการติดเชื้อไวรัส ชื่อ Varicella zoster virus ซึ่งมักพบว่าเป็นอาการหลังจากผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว
– เชื้อไวรัสนี้ ไม่หายขาด และซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทไขสันหลัง( sensory gangion of nerve fiber) เมื่อภูมิต้านทานร่างกายลดลง เช่น พักผ่อนน้อย เครียด จะเกิดการกำเริบของเชื้อไวรัส แพร่กระจายมาตามบริเวณที่ร่างกายที่เส้นประสาทนั้นควบคุมอยู่
ถ้าเป็นรอบวง จะทำให้เสียชีวิตจริงหรือไม่
งูสงัด เป็นรอยตุ่มน้ำใส ตามร่างกายและเป็นแนวเดียวกับที่เส้นประสาทนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งแนวเส้นประสาท ไม่สามารถจะพันรอบตัวเป็นวงกลม ดังนั้นโอกาสเกิดแบบนี้ แทบไม่มีเลย

อาการที่เกิดขึ้น แบ่งได้ดังนี้

  1. ระยะเตือน ( Prodromal phase) เป็นช่วงที่มีการอักเสบของเส้นประสาท แต่ยังไม่มีตุ่มน้ำ มักมีอาการปวดแสบร้อน ตามเส้นประสาท คล้ายไฟช็อต ปวดแปล๊บๆ เป็นพักๆ หรือ ปวดตลอดเวลา มักเป็นอยู่ 1-3 วัน ก่อนมีตุ่มน้ำ
  2. ระยะเฉียบพลัน( Acute phase) เกิดตุ่มน้ำใสอยู่กันเป็นกลุ่ม( ดังภาพ) ฐานของตุ่มเป็นสีแดงจากการอักเสบ มักอยู่เป็นกลุ่มๆ เรียงต่อเป็นแนวยาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง และจะตกสะเก็ดภายใน 2 สับดาห์ มักไม่เกิดแผลเป็น ยกเว้นจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ตำแหน่งที่พบส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ทรวงอก หลัง แต่บริเวณที่อันตรายเมื่อเกิดการติดเชื้องูสวัด คือบริเวณใบหน้า หน้าผาก และหนังศีรษะส่วนบน เพราะอาจลุกลามเข้าตา และเกิดรอยโรค กระจกตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้ตาบอดถาวรได้
  3. ระยะเรื้อรัง( Chronic phase) แม้รอยตุ่มน้ำจะหายแล้ว ในบางคน อาจยังมีอาการปวดแปล็บๆ คล้ายไฟช็อดเป็นพักๆ ได้ ที่เรียกว่า post herpetic neuralgia ได้เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างยิ่ง

แนวทางการรักษา 

  1. มักหายได้เอง ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจต้องให้ยาทา หรือยารับประทานช่วยเสริม
  2. อาจมีอาการปวดเหมือนตามร่างกาย หรือมีไข้ได้ อาจให้รับประทานยา paracetamol วันละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมงก็ได้
  3. ยาทา Acyclovir จะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบร้อน ได้บ้าง และช่วยลดความรุนแรง และย่นระยะการหายของโรคให้เร็วขึ้น
  4. ยาทา สมุนไพรพญายอ หรือเสลดพังพอน ได้มีคณะวิจัยจากกรมการแพทย์ รพ.บางรัก และรพ.ตากสิน ได้นำมาทำการทดลองใช้รักษาคนไข้ที่เป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ จำนวน 77 ราย จนได้ข้อสรุปว่า ครีมที่ผสมด้วยสมุนไพรพญาลอ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเริม และงูสวัด ไม่แตกต่างจากยา Acyclovir และดีกว่าตรงที่ เมื่อทาตรงแผลแล้วจะรู้สึกเย็น ในขณะที่ acyclovir cream ทาแล้วจะรู้สึกแสบ
  5. ยารับประทาน Acyclovir มักจะต้องใช้ กรณีที่มีอาการมาก ตุ่มน้ำรุนแรง และปวดแสบร้อนมาก ควรรับประทาน ครั้งละ 800 มก.วันละ 5 ครั้ง นาน 5-7 วัน แต่ค่ายาค่อนข้างแพง ( ราคาทุนประมาณ 1,000+ บาท) ดังนั้นถ้าไปพบแพทย์แล้วต้องรับประทานยา คงต้องเตรียมสตางค ์ประมาณ 2 พันบาทนะครับ ค่าต้นทุนยาเค้าแพงอยู่แล้ว
  6. กรณีที่มีอาการปวดตามเส้นประสาท หลังตุ่มน้ำหายแล้ว ยังไม่มียาตัวใดที่รักษาให้หายขาดได้แน่นอน แต่มีการทดลองใช้ยาหลายกลุ่ม เช่นยาทางจิตเวช คือ Tregital แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยลดอาการได้มากนัก
  7. ไม่แนะนำให้แกะ หรือ เกาตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแทรกซ้อน เกิดอักเสบ เป็นแผลเป็นภายหลังได้
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคืออะไร?

              จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 69.8 และยังสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนคือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66.5 โดยทั่วไปจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันโรคจะอยู่ได้นานถึง 10 ปี และในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดกระตุ้นของวัคซีนนี้ โดยภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่หลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเหมาะกับใคร ?
    ทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถรับวัคซีนนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติการเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เนื่องด้วยอายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดและอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด

Posted on

โรคเกลื้อน (Tinea vesicolor) : ด่างขาว บนใบหน้า หรือ ตามลำตัว จากเชื้อรา การป้องกันและรักษา

เกลื้อน( Piryriasis vesicolor or Tinea vesicolor) เป็นภาวะการติดเชื้อราที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง คือ Stratum corneum โดยที่ผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการและมักเป็นเรื้อรัง โดยเชื้อราที่พบ คือ Malassezia furfur ( Pityrosporum ovale)
ปกติเชื้อราประเภทนี้ พบได้ทั่วไปตามรูขุมขนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก บริเวณ หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ ใบหน้า บางครั้งอาจพบที่รักแร้ หรือ โคนขาได้
ปัจจัยที่ชักนำให้เกิดโรคเกลื้อน ซึ่งจะทำให้เชื้อรากลุ่มนี้เจริญเติบโตจากเชื้อยีสต์ เป็นสายหรือเป็นแท่งที่เรียกว่า hyphae ซึ่งทำให้เกิดโรคเกลื้อน ได้แก่
1. ภาวะผิวมัน
2. ภาวะเหงื่อออกมาก
3. ใส่เสื้อผ้าอับชื้นหรืออับเหงื่อเป็นเวลานานๆ
4. ภาวะอากาศมีความชื้นสูง เช่น ในหน้าร้อน หรือหน้าฝน
5. การรับประทานยาหรือทายากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง
6. ภาวะทุพโภชนาการ ขาดอาหาร

พบบ่อยแค่ไหน สังเกตอย่างไร
โรคเกลื้อน พบได้บ่อยในวัยหนุ่มสาว ทั้งเพศชายและหญิง แต่ก็อาจพบในทารกจนถึงวัยสูงอายุได้ โดยอาการทางคลินิก จะมีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ สีน้ำตาล สีขาว หรือ แดง มีขอบเขตชัดเจน ผิวมีขุยละเอียด ต่อมาอาจจะเป็นปื้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นวงกลมๆ หลายวง หรือรูปร่างไม่แน่นอน อาจคัน หรือไม่คันก็ได้
รอยด่างขาวที่หน้า ส่วนใหญ่เป็นเกลื้อนหรือไม่
เกลื้อน มักไม่ค่อยพบที่ใบหน้า เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ล้างหน้าบ่อยๆ และซับให้แห้ง ถ้าพบรอยด่างที่ใบหน้า ให้นึกถึงอย่างอื่นก่อน เช่น โรครอยด่างจากแดด หรือเกลื้อนแดด หรือ เกลื้อนน้ำนม( P. alba) หรือ โรคด่างขาว( vitilligo) มากกว่าจะเป็นโรคเกลื้อน
วินิจฉัยโรคเกลื้อนอย่างไร
ถ้าจะยืนยันการเป็นเกลื้อนจริงหรือไม่ ควรขูดเอาขุยบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ด้วยน้ำยา KOH จะพบลักษณะยีสต์เซลล์ รูปร่างกลมหรือรี หรือสายใยเป็นท่อนๆ ( fragmented hyphae) ของเชื้อราชัดเจน

รักษาอย่างไร
1. หลีกเลี่ยงภาวะหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อนดังกล่าวข้างต้น เช่น ภาวะเหงื่อออก การอับชื้น
2. การใช้ครีมทาภายนอก ฆ่าเชื้อรา ได้แก่
2.1 กลุ่ม Imidazole derivatives เช่น Tonaf,Canesten cream,Cotrimazole ทาบริเวณที่เป็น ครีมจะใช้ได้ผลดีกรณีที่เป็นไม่มาก แต่ราคาค่อนข้างแพง
2.2 Selenium sulfide หรือ Selsun ใช้ฟอกตัว ถ้าเป็นมาก โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก โดยทาทั่วตัวประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรระวังอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแสบได้ ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป และควรป้องกันการเกิดซ้ำ โดยทายาเดือนละ 1 ครั้ง
2.3 กลุ่มยาลอกขุย( Keratolytic agents) ได้แก่ Whitfield’s ointment,ขี้ผึ้งเบอร์ 28 โดยจะทำให้ผิวหนังลอกออก แล้วเชื้อราหลุดออกไป มีข้อดีคือ ราคาถูก แต่ก็ทำให้เกิดรอยคล้ำดำ จากการอักเสบได้ ( Post-inflammatory hyperpigmentation)
3. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา มักใช้ใน กรณีที่เป็นมาก หรือ มีบริเวณกว้าง การทาครีมอาจจะไม่ทั่วถึง เช่น ภาวะโรคเกลื้อนทั่วไปที่หลัง และลำตัว
3.1 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Ketoconazole (Nizoral) 200 มก. วันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 10-14 วัน และป้องกันการเกิดซ้ำ ด้วยการรับประทานยา เดือนละ 1 ครั้งในขนาด 400 มก. หรือ 200 มก.ติดต่อกัน 3 วันต่อเดือน
3.2 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Itraconazole (Spiral=100 Mg./แคบซูล) การรักษาแนะนำให้รับประทาน ขนาด 200 มก.ต่อวัน เป็นเวลานาน 5 วัน
3.3 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Griseofulvin (Fulvin) ,Terbinafine (Lamisil) ได้ผลไม่ค่อยดีนักในการรักษาโรคเกลื้อน

Posted on

ผื่นแพ้เสื้อผ้า (Textile contact dermatitis) : เสื้อใหม่ ทำไม ใส่แล้วไม่สบายตัว สาเหตุและการแก้ไข

การแพ้เสื้อผ้า ไม่ว่าจากเสื้อผ้าชุดชั้นนอกหรือชุดชั้นในพบได้ไม่บ่อยนัก ตามปกติแล้ว เนื้อผ้าทั้งที่ผลิตจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่การแพ้จะเกิดต่อเมื่อมีการเติมสารเคมีลงในเนื้อผ้าระหว่างกระบวนการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าผู้ที่แพ้มักจะนึกไม่ถึง และคิดว่าผื่นที่เกิดอาจเกิดจากการแพ้เหงื่อ หรือเป็นเชื้อราก็ได้

อาการและอาการแสดง

  1. อาการคันจากการเสียดสีและสัมผัส ( Subjective irritation) ส่วนใหญ่จะเกิดการระคายเคืองมากกว่าการแพ้ เนื่องจากลักษณะของเนื้อผ้า เช่น ผ้าลูกไม้ หรือผ้าลินิน
  2. ผื่นลมพิษบริเวณที่สัมผัส ( contact urticaria) ลักษณะก็คล้ายลมพิษทั่วไป แต่จะเกิดบริเวณที่มีการกดทับ เช่น ที่สายรัดยกทรง การกดทับบริเวณขอบกางเกงที่บั้นท้าย
  3. ผื่นอักเสบแบบตุ่มน้ำพองใส แบบ Eczema คล้ายการเกิดผิวแพ้ในเด็ก มักเกิดจากการระคายเคือง ในบริเวณที่แนบชิดกับเนื้อผ้า เช่น แพ้สีย้อมผ้า หรือแพ้สารที่เคลือบมากับเนื้อผ้า
  4. ผื่นแบบจุดเลือดออก ใต้ผิวหนัง ( petichiae) เป็นจุดแดงๆ คล้ายในโรคไข้เลือดออก มักไม่คัน สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการแพ้ยางสังเคราะห์ในผ้า หรือยางยืดอีลาสติก

สาเหตุการเกิด แบ่งได้เป็น

  1. ตัวเนื้อผ้าเอง ใยเนื้อผ้าบางชนิดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัดว์ ผ้าลูกไม้ นอกจากนี้ผ้าบางชนิด อาจทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น ผ้าไหม เป็นต้น
  2. สารที่ปะปนในกระบวนการผลิตผ้า เช่น สารฟอร์มาดีไฮด์ ที่ทำให้ผ้าเรียบและมัน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้เสื้อผ้ามากที่สุด
  3. สีย้อมผ้า ชุดชั้นในที่มีสีสดๆ อาจทำให้เกิดการแพ้ได้
  4. สารที่ใช้ในการผลิตยางยืด บางครั้งอาจแพ้ยางที่อยู่ในขอบยางอีลาสติกได้
  5. สารที่ปะปนมากับการซักรีด จากการล้างออกไม่หมด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารฟอกขาว สารเพิ่มฟอง น้ำหอม สี
  6. โลหะ เช่น ในพวก กระดุม ตะขอ

การที่จะพิสูจน์ว่า ลักษณะอาการผื่นที่พบ เกิดจากการแพ้เสื้อผ้า หรือชุดชั้นในหรือไม่ อาจทำการทดสอบได้ด้วยการนำสารที่สงสัยมาปิดไว้ที่หลังเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้ววัดผล ซึ่งเรียกว่า การทำ Patch test ซึ่งสามารถทำได้ที่สถาบันโรคผิวหนัง หรือ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐ

การป้องกัน 

  1. ควรซักชุดชั้นในทุกครั้งที่ซื้อมาใหม่ก่อนใส่ และหลีกเลี่ยงผงซักฟอกที่มี คลอรีนและผงฟอกขาว
  2. ถ้าพบว่าหลังใส่เสื้อผ้า หรือชุดชั้นใน แล้วมีอาการคัน หรือเกิดผื่น ควรหยุดใช้ทันที
  3. ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อออก เพราะอาจทำให้สีย้อมผ้า หรือ ฟอร์มาดีไฮด์ ละลายออกมาทำให้แพ้ได้
  4. ถ้าแพ้ยางยืด อาจเลือกใช้ชุดชั้นในที่ทำด้วยผ้าธรรมดา หรือชุดชั้นในที่ทำจากไลครา( lycra) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดยืดหยุ่นได้ที่ไม่ใช่ยาง
  5. ถ้าแพ้โลหะ อาจใช้ตะขอพลาสติก หรืออาจใช้ยาทาเล็บที่ไม่มีสีเคลือบตัวโลหะไว้ ไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
Posted on

Lichen simplex chronicus : ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เกาเกา คันคัน จนกลายเป็นปื้นหนาๆ

Lichen simplex chronicus คือ อาการของโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นกลุ่มหนึ่งในกลุ่มอาการของ eczema แบบเรื้อรัง มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยคัน และเกาอยู่บ่อยๆ จากสาเหตุผื่นคันต่างๆ เช่น ยุงกัด แมลงกัด ซึ่งอาจพบที่เดียว หรือหลายๆ ที่ก็ได้

ลักษณะของผื่นที่พบ จะเป็นปื้นๆสีเนื้อ มีขอบเขตชัดเจน หนา ดังในภาพด้านบน พบบ่อยบริเวณ ต้นคอ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า หัวเข่า หลังเท้า โดยมีขนาดตั้งแต่ 2-5 ซม.เป็นส่วนใหญ่

แนวทางการรักษา 

  1. ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า โรคนี้เกิดจากการเกามากๆ บ่อยๆ เนื่องจากการคัน ดังนั้นจะหายได้ ต้องพยายามไม่เกาหรือถูผิวหนัง เมื่อมีอาการคัน ให้ทายาแก้คันกลุ่ม Steroids ที่มีฤทธิ์แรงๆ เช่น Clobetansol creams เพื่อระงับอาการคัน
  2. การหายจากโรค อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าจะยับยั้งการเกาได้ดีแค่ไหน
  3. กรณีที่มีปื้นหนา หรือ แห้งเป็นขุย การใช้ครีมกลุ่มที่ผสม Urea เพิ่มความชุ่มชื้น หรือ Salicylic เพื่อลอกขุย ก็อาจทำให้รอยโรคหายเร็วยิ่งขึ้น
Posted on

Atopic dermatitis : โรคผื่น ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ตุ่มน้ำพองใส ในคนที่มีประวัติภูมิแพ้

Atopic dermatitis คือ ภาวะโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ในกลุ่มอาการ แบบ ตุ่มน้ำพองใส ( eczema ) ซึ่งมีสาเหตุความผิดปกติ จากภายในร่างกายเอง
อุบัติการณ์ มักพบในกลุ่มคนที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น โดยมักมีประวัติคนในครอบครัวมีปัญหาร่วมด้วย
ลักษณะอาการที่ตรวจพบ แบ่งได้เป็นกลุ่มอายุดังนี้
1. ในเด็กเล็ก ( อายุ 3 เดือน-3ปี)
มักพบมีอาการที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้มและคาง มักมีลักษณะเฉียบพลัน(Acute eczema) คือ มีตุ่นน้ำพองใส คัน และอาจแตก ติดเชื้อแทรกซ้อนมีแผลเป็นได้
2. ในเด็กที่โตขึ้น( อายุ 2-12 ปี)
ผื่นมักจะพบบริเวณข้อพับ เช่น ซอกคอ ข้อพับ แขน ขา เป็นมากเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น หน้าร้อน เหงื่อออกมาก หรืออากาศแห้ง โดยมีอาการคันมาก ๆ ผื่นจะนูนเล็กน้อย ไม่ค่อยเป็นตุ่มน้ำ หรือน้ำเหลืองให้เห็น

3. เด็กที่อายุ มากกว่า 12 ปี หรือผู้ใหญ่
ผื่นจะเห็นเด่นชัดขึ้น บริเวณข้อพับเช่นกัน แต่จะหนาเป็นปื้น มักจะคัน และเกาจนเป็นแผล มักเป็นเรื้อรังและไม่หายขาด
แนวทางการรักษา
1. การใช้ครีมกลุ่มเสตียรอยด์ ทาบริเวณที่มีอาการ โดยเลือกชนิดของยา และความเข้มข้นของยาแตกต่างกันแล้วแต่บริเวณและลักษณะผื่น แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่อง และระยะเวลานาน เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้
2. หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนหรือแห้งเกินไป
3. เลือกใช้สบู่หรือครีมที่มีส่วนผสมของ Lanolin หรือ Ceramide เพื่อลดอาการผิวแห้ง อาการคัน
4. เลือกครีมบำรุง เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ
5. ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาที่ทำให้เกิดแผลอักเสบแทรกซ้อน


Posted on

Eczema : อาการของผิวหนังอักเสบ ที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายโรค

Eczema คือ ภาวะโรคผิวหนังอักเสบ( dermatitis) ที่พบได้บ่อย ถึง 1 ใน 3 ของโรคผิวหนังที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ มักมาด้วยอาการผื่นคัน บวม หรือแดงตามผิวหนัง แต่ในบางรายอาจเกิดเป็นแผลพุพอง มีน้ำหนอง หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย
โดยภาวะผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และโรคผื่นแพ้สัมผัส อย่างไรก็ตามภาวะนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้
สาเหตุของการโรคผิวหนังอักเสบแบบ Eczema แพทย์ส่วนใหญ่จะซักประวัติพร้อมการตรวจร่างกาย และลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้น แล้วแบ่งการวินิจฉัยเป็น 2 สาเหตุดังนี้
1. สาเหตุภายนอกร่างกาย( Exogenous cause)เช่น การสัมผัสสารระคายเคือง หรือ การแพ้สารต่างๆ โรคภูมิแพ้ หรือ อื่นๆ เช่น แมลงกัดแล้วแพ้ ซึ่งเมื่อกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว ก็ทำให้หายขาดได้
2. สาเหตุภายในร่างกาย( Endogenous cause) มีได้หลายชนิด และมีลักษณะจำเพาะแตกต่างกัน ได้แก่ โรคต่างๆ ดังนี้ Atopic dermatitis ,Seborrheic dermatitis ,Nummular eczema , Dyshidrosis ,Stasis dermatitis ,Lichen simplex chronicus

อาการของโรคผิวหนังอักเสบแบบ Eczema
อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีความแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย ขึ้นกับระยะของโรค และชนิดของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ โดยแบ่งออกคร่าวๆได้ดังนี้
1. Acute eczema เป็นระยะที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสเล็กๆพองขึ้นบริเวณผิวหนัง พร้อมๆ กับมีอาการบวมแดงรอบๆ ผื่น มักมีอาการคันอย่างรุนแรง เกาจนตุ่นน้ำแตกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
2. Sub-acute eczema พบว่ารุนแรงน้อยกว่า แบบแรก ผิวหนังจะเริ่มแห้งและลอกเป็นขุย อาจมีร่องรอยการอักเสบหรือเกาได้บ้าง แต่น้ำเหลืองมักจะแห้งและตกสะเก็ด พร้อมๆกับผิวหนังมีการหนาตัวขึ้น
3. Chronic eczema เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง เป็นบ่อยๆ เมื่อมีการเกาหรือถูซ้ำนานๆ ทำให้ผิวหนังด้านบนหนาตัวเป็นปื้น แลเห็นที่ชั้นผิวหนังเป็นตุ่มหรือเป็นริ้ว

หลักการรักษา
1. ยาจำพวกสเตียรอยด์ ถือว่าเป็นยาหลักที่สำคัญที่สุดในการรักษา เพราะใช้แก้ปัญหาการอักเสบของผิวหนังโดยตรง โดยถ้าเป็นไม่มากเฉพาะที่ก็อาจใช้ครีมทาอย่างเดียว ซึ่งมีหลายยี่ห้อ ตามแต่ความรุนแรงหรือความเข้มข้นของยา เช่น Prednisil cram,Betnovate cream,Sambug cream เป็นต้น แต่ถ้าเป็นมากและรุนแรง อาจต้องให้ยาสเตียรอยด์ในกลุ่มที่รับประทาน เช่น Prednisolone
2. แผลให้แห้งเสีย ในกรณีที่เป็นเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองใหลเยิ้ม ไม่แนะนำให้ใช้ครีมทาในช่วงดังกล่าว ควรทำแผลให้แห้งเสียก่อน หรือแช่แผลในด่างทับทิม หรือ ใช้ผ้าก็อซชุบน้ำยา Borrow’s solutions เพื่อให้แผลแห้งก่อน จึงจะใช้ครีมทา
3. ภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรัง( chronic eczema ) ใช้ระยะเวลาในการหายค่อนข้างนาน และมักไม่หายขาด ถ้าสาเหตุเกิดจากภายในร่างกาย บางทีเป็นๆ หายๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี ทำให้คนไข้มักเปลี่ยนหมอ หรือที่รักษาบ่อยๆ การได้เข้าใจภาวะและสาเหตุของโรค จะเป็นสิ่งที่ดีที่แพทย์ควรบอกคนไข้ให้รับทราบตั้งแต่ต้นของการรักษา

Posted on

ปานดำ (Pigmented Birthmarks) จุดดำ ทำให้เกิดตำหนิกับผิว ที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง

ปานดำ คืออะไร

คือ ความผิดปกติของสีผิว โดยจะสีดำหรือคล้ำกว่าผิวปกติ ที่มีทั้งลักษณะเรียบหรือนูน โดยเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวมีมากเกินไป เม็ดสีที่มากผิดปกตินี้ ปานดำ มักจะเกิดในหนังกำพร้า (Dermis) ก็พบได้ในชั้นหนังกำพร้า (Epidermis )
ปานดำมักปรากฏตั้งแต่แรกเกิด มีทั้งสีน้ำตาล ดำ น้ำเงิน หรือน้ำเงินเทา อาจจะหายได้เอง หรือไม่หายไป เมื่อโตขึ้น ขอกล่าวเฉพาะที่พบได้บ่อยๆ ดังนี้
1. ปานสีกาแฟใส่นม (Café-Au-Lait Spots) มีลักษณะเป็น ผื่นราบสีน้ำตาลอ่อน ปรากฏตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน มักจะมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน จะขยายขนาดขึ้นตามการเจริญเติบโต และจะคงอยู่ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะไม่พบมีความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย แต่หากผู้ป่วยที่มีปานชนิดนี้ จำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบมีโรคพันธุกรรมบางชนิดได้ ดังนั้น หากพบปานขนาดใหญ่หรือมีหลายอัน ควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
2. ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots) พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือน้ำเงินเข้ม บริเวณก้นและสะโพก แต่อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ ปานชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อเข้าสู่วัยเด็กตอนต้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา

3. ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) คือ เป็นปานที่เราคุ้นเคย และพบได้บ่อยๆ บางคนเรียกว่า ไฝสีดำเข้ม มีขนาดแตกต่างกัน แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด มักปรากฏตามหนังศีรษะหรือแขนขา ปานดำชนิดนี้เกิดจากการผลิตเซลล์เม็ดสีผิวมากเกินไป ส่วนใหญ่ ปานจะค่อย ๆ เล็กลงจนจางหายไปเอง หรืออาจเข้มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจจะมีลักษณะนูน หรือบุ๋มเป็นหลุม มีขนขึ้น ขนาดของปานมีตั้งแต่เล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร จนถึงใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร เป็นปานดำที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ถ้ามีขนาดโตมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ปานดำเบคเกอร์ ( Becker’s nevus หรือ Pigmented hairy epidermal nevi) เป็นปานดำ ชนิดที่พบได้บ่อย และมักพบในผู้ชาย โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่ออายุระหว่าง 10-15 ปี โดยจะเริ่มปรากฏเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ แล้วขยายออกเป็นแผ่นปื้นประมาณ 10-13 ซม.เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะเริ่มสังเกตมีเส้นขนขึ้นมากกว่าปกติในบริเวณปานดำนั้น

5. ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นปานสีน้ำเงินหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนใหญ่ (90%) เป็นข้างเดียวของใบหน้า ตั้งแต่หน้าผาก ขมับและแก้ม บางรายอาจพบในตาขาวร่วมด้วย
ประมาณกึ่งหนึ่งของปานโอตะ เป็นตั้งแต่เกิด ส่วนที่เหลือเริ่มเป็นเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (5 ต่อ 1) ปานโอตะพบได้บ่อยถึง 0.2%-0.8% ของคนเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทย
ความเข้มของปาน อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการมีประจำเดือน ความอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ หรือฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม ไม่เคยพบว่า ปานชนิดนี้จะหาย ได้เอง

แนวทางการรักษาปานดำ : ปานดำเกือบทุกชนิด ไม่หายเอง ยกเว้น ปานมองโกเลียน ที่หายเองได้ ถือเป็นปัญหาด้านความสวยงาม เป็นหลัก แต่ก็มีบางชนิดที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็ง หรือสัมพันธ์กับโรคหรือระบบบางอย่างได้ การกำจัดปานดำ อาจะทำได้ดังนี้
1. การกำจัดขนที่บริเวณปานดำ ด้วยการทำการกำจัดเลเซอร์ Long-Pulsed :Nd-Yag laser ได้แก่ Gentel YAG Laser
2. ปานดำทำให้จางลงได้ ด้วยการทำการรักษาด้วย Q-Switchec:Nd-Yag laser 1064 nm เพราะถือว่าได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย ซึ่งทีได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน คือ Revlite laser, Pico lasers
3. กรณีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นก้อนนูน ไม่ลึก อาจจะกำจัดออกด้วย เลเซอร์ CO2

Posted on

Paronychia : เล็บขบ การอักเสบของขอบเล็บ เจ็บ บวม แดง สาเหตุ และการป้องกันรักษา

Paronychia คือ การติดเชื้อ อักเสบของขอบเล็บ( nail fold) พบได้บ่อยๆ และคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเล็บติดเชื้อรา ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด ภาวะอักเสบนี้ ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณโคนเล็บมือ และเล็บเท้า และมักจะเป็นเรื้อรัง แต่ก็อาจพบการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ ซึ่งมักเกิดภายหลังการบาดเจ็บ เช่น ถูกกด หรือ ถูกทิ่มตำที่เล็บ หรือตัวเล็บเองงอกแทงเข้าไปในผิวหนัง แล้วเกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า ‘เล็บขบ’
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค คือ การที่มือและเท้าเปียกน้ำอยู่เสมอ เช่น คนทำครัว แม่ค้าขายของสด ช่างทำเล็บ ช่างสระผม แล้วทำให้หนังคลุมเล็บ(cuticle) เปื่อยยุ่ยหลุดออกไป จนเกิดรอยแยกระหว่างเล็บกับบริเวณโคนเล็บ ดังภาพที่ 2 ทำให้น้ำและเชื้อโรคสามารถแทรกซืมเข้าไปในขอบเล็บ เกิดการอักเสบและติดเชื้อภายหลัง
เชื้อโรคที่ทำให้เกิด มักไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นพวกยีสต์ กลุ่ม Candida ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยไปพบแพทย์ จนเกิดอักเสบเรื้อรัง เป็นระยะเวลานานจนเล็บเสียรูปร่าง( dystrophy) แต่ก็อาจติดเชื้ออื่นได้ ในรายที่รุนแรง อาจพบอักเสบเป็นหนอง บวมแดง ปวดได้
การอักเสบขอบเล็บ แยกได้ง่ายจากเชื้อราที่เล็บอย่างไร
เพราะ ขอบเล็บจะนูน พบรอยแยกบริเวณใต้โคนเล็บ และเล็บไม่เปื่อยยุ่ยเป็นขุย เหมือนในการติดเชื้อราที่เล็บ แต่อาจพบเล็บขรุขระบ้าง

แนวทางการป้องกันและรักษา

1. กรณีที่อักเสบเฉียบพลัน มีบวมแดง ปวด อาจต้องพบแพทย์ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดอักเสบ
2. กรณีที่เล็บขบ จากตัวเล็บเอง อาจต้องทำการถอดเล็บออกบางส่วน
3. กรณีทีเป็นเรื้อรัง ควรพยายามให้มือและเท้าแห้งอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายสร้างหนังคลุมเล็บขึ้นมาใหม่
4. อาจใช้ครีมทาต้านเชื้อรา ทาบริเวณขอบเล็บ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราที่เล็บ แทรกซ้อน