แผลร้อนใน (Aphthous ulcer) กินอะไรไม่ได้ เป็นบ่อยๆ ป้องกัน รักษาอย่างไรให้หายขาด

ผิวหนัง

6 กรกฎาคม 2005


38105393 – close up children with aphtha on lip

แผลร้อนใน อาการเจ็บปาก ปากเปื่อยเป็นแผล เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ก็คือ แผลแอฟทัส (Aphthous Ulcer)
ลักษณะ เป็นแผลเล็กๆ ตื้นๆ มีอาการเจ็บ มักเกิดบริเวณ เยื่อบุช่องปาก อาจมีแผลเดียว หรือหลายแผลก็ได้ มักหายโดยไม่มีแผลเป็น ภายใน 5-10 วัน
สาเหตุของการเกิดแผล ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และอาจเป็นอาการของโรคใดโรคหนึ่งได้ ดังนั้นถ้าเป็นบ่อยๆ อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพิ่มเติม

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผลในปาก 

1. การติดเชื้อ – เชื้อที่พบมักเป็นจำพวกแบคทีเรีย แกรมบวก-Streptpcoccus sanguis
2. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เช่นในช่วงมีประจำเดือน
3. ความเครียด
4. การพักผ่อนไม่เพียงพอ
5. มีการระคายเคืองภายในช่องปาก เช่น สารบางชนิดในยาสีฟันหรืออาหาร : ถือว่าพบบ่อยที่สุด และมักจะพบได้หลายๆ ที่ อาจจะที่ลิ้น หรือเพดานปาก
6. การขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก ฯลฯ

การวินิจฉัยแยกโรค
โรคนี้เป็นสิ่งที่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม อาการปากเปื่อยเป็นแผลยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น
– ถูกแปรงสีฟันครูดหรือกระแทก
– ถูกฟันกัด ถูกฟันปลอมเสียดสี
– แผลเริมขึ้นที่ปาก จะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นเป็นกระจุกเดียวตรงริมฝีปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นๆ เจ็บเล็กน้อย
– แผลมะเร็งในช่องปาก พบมากในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่กินหมาก จุกยาฉุน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพียวๆ มีลักษณะขอบหนา สกปรก มีกลิ่น และมักไม่เจ็บ

แนวทางการรักษา 

  1. บ้วนปากให้สะอาด ด้วยน้ำเกลืออุ่น แล้วทายาป้ายแผลในปาก อาทิ Kenalog in Oralbase เพื่อลดการอักเสบ
  2. ยารับประทาน พวกปฎิชีวนะ อาทิ Metronidasole 200 มก. รับประทาน 2 เม็ด 3 เวลา หลังอาหาร กรณีที่มีการอักเสบมาก และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เพื่อระงับ การมีกลิ่นปาก
  3. เปลี่ยนยาสีฟันที่ใช้อยู่ประจำ มักพบคนไข้บางคน แพ้สารที่ทำให้เกิดความรู้สึกซ่า สดชื่น ในยาสีฟันบางชนิด เช่น ดาร์กี้ คอลเกต หรือ ใกล้ชิด ฯลฯ แนะนำให้ใช้ยาสีฟัน รสจืด แทน
  4. ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย วันละ 10-12 แก้ว เพื่อลดการอักเสบ และทำความสะอาดช่องปาก
  5. รับประทานอาหานที่มีวิตามิน บี 12 ธาตุเหล็ก ในกรณีที่ขาดสารอาหาร
  6. ถ้าแผลเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์ และปฏิบัติตาม ที่แนะนำแล้วยังไม่หาย อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างอื่น

Related