Posted on

วิธีเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อเริ่มสูงวัย จะปรับตัวอย่างไร ให้มีความสุขกาย สุขใจ ไร้โรคภัยคุกคาม

หน้าที่ของฮอร์โมน
ฮอร์โมนในร่างกายของคนเรา มีหน้าที่หลักในการทำงานคือ การควบคุมอวัยวะและระบบต่างๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ทั้งในแง่การดำรงชีวิตประจำวัน การเจริญเติบโต การนอนหลับพักผ่อน การเผาผลาญพลังงาน การสืบพันธุ์ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ
ซึ่งในร่างกายเราก็มีฮอร์โมนหลายชนิด และร่างกายก็ผลิตหรือหลั่งฮอรโมนจากอวัยวะต่างๆ หลากหลาย แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือแก่ขึ้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย
ตามทฤษฎีว่าด้วยความแก่ (Theory of Aging) พบว่าทฤษฎีเกี่ยวกับฮอร์โมน (The Neuroendocrine Theory) ได้การอธิบายกลไกการเสื่อมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบว่า เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนต่างๆ จะลดระดับลง หรือการมีสร้างลดลง เมื่อมีระดับฮอร์โมนต่างๆ ลดลง สุขภาพของเราก็จะเสื่อมถอยลง เพราะขบวนการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายลดลง ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมแซมสิ่งทีสึกหรอ การเจริญเติบโต สมรรถภาพทางเพศ ผิวพรรณ ฯลฯ


การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ เริ่มต้นเมื่อไหร่
โดยตามทฤษฎีพบว่า เมื่อเราอายุย่างเข้า 30-40 ปี ฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งเคยมีระดับสูงในวัยหนุ่มสาว ได้มีการ ลดปริมาณลงเรื่อยๆ มากน้อยแล้วแต่ชนิดของฮอร์โมน ทำให้บางคนเกิดมีภาวะพร่องฮอรโมน ( Hormonal Depletion) เป็นช่วงๆ อาการจะรุนแรงมากน้อย ก็แตกต่าง กันไปแล้วของแต่ละคน ฮอร์โมนหลักๆ ที่มีการลดลงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่
1. Growth Hormone: จัดเป็นฮอร์โมนที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (Anabolic Hormone) โดยมีบทบาทในการสร้างความเจริญเติบโตของสรีระของร่างกาย จากวัยทารก สู่วัยรุ่น สู่วัยหนุ่มสาว จนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การขาดฮอร์โมนนี้ในวัยเด็ก ก็จะทำให้เราเตี้ย แคระแกร็นได้ (Dwarfs) หรือถ้าเรามีระดับฮอรโมนนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เรามี ร่างกายโตผิดปกติ (Giantism) แต่ถ้าภาวะปกติ เราก็จะสูงเตี้ย ตามกรรมพันธุ์และเชื้อชาติของเรา มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายด้วย เมื่ออายุมากขึ้น การสร้าง Growth Hormone จะลดลง ทำให้เราเกิดมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย ผิวพรรณเหี่ยวย่น ลงพุง กล้ามเนื้อหย่อนคล้่อย และเกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน
2. Melatonin: จัดเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้รู้สึกง่วงนอน อยากพักผ่อน และมีผลทำให้การนอนหลับได้สนิท นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลายอย่าง อาทิ ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน มีผลทำให้เรานอนหลับได้ยากขึ้น หลับไม่เต็มอิ่ม สะดุ้งตื่นได้ง่าย และนอนหลับต่อได้ยากขึ้น

3. Testosterone: จัดเป็นฮอรโมนเพศชาย ที่ทำให้ลักษณะเพศชายเด่นชัด เช่น มีหนวดเครา มีกล้ามเนื้อ ขนตามลำตัว อวัยวะเพศชาย ฯลฯ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และมีความสำคัญเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน ทำให้มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย อ่อนเพลียได้ง่าย อ้วนง่าย หงุดหงิดง่ายขึ้น ความจำช้าลง ฯลฯ
4. Estrogen: จัดเป็นฮอรโมนเพศหญิง ที่ทำให้ลักษณะเพศหญิงเด่นชัด เช่น มีหน้าอก สะโพกผาย ทำให้มดลูกมีสภาพพร้อมที่จะมีบุตร ผิวพรรณเนียนนุ่ม มีความต้องการทางเพศ ฯลฯ เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40-50 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน ทำให้มีผลต่อการเกิดริ้วรอยได้ง่าย อ้วนง่าย ความต้องการทางเพศลดลง รอบเดือนผิดปกติ เกิดอาการที่เรียกว่าวัยทอง (Perimenopausal syndromes) อาทิ วิงเวียนศีรษะ ร้อนวูบวาบตามลำตัว หงุดหงิดง่าย เครียดบ่อยๆ หดหู่ ซึมเศร้าได้ง่าย ความจำลดลง และทำให้เกิดภาวะกระดูกผุได้ง่าย (Osteoporosis)
5. Progesterone: จัดเป็นฮอรโมนเพศหญิงที่ช่วยปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีรอบเดือน ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของกระดูกและเต้านม เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40-50 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลง ถ้าขาด ก็จะทำให้มีอารมณ์ปรวนแปร ฉุนเฉียวได้ง่าย ก้าวร้าว กระวนกระวาย ขี้วิตกกังวล ปวดรอบเดือน ความรุ้สึกไวต่อการเจ็บปวดทั้งหลาย ไม่ค่อยถึงจุดสุดยอดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์

6. Thyroid Hormone: จัดเป็นฮอรโมนที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญและการใช้พลังงานของร่างกาย มีผลควบคุมระดับความดันโลหิต ชีพจร การคิด การพูด ระบบย่อยอาหาร ระบบปัสสาวะ ระดับไขมันในเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ในบางคนระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงหรือพร่องไป ซึ่งจะมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ท้องผูก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไวต่ออากาศเย็น มือเท้าเย็น ติดเชื้อง่าย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ความจำเสื่อม ความคิดอ่านช้าลง และอาจจะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย
7. DHEA: จัดเป็นฮอรโมนที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด ระบบภูมิคุ้มกันและเมตาโบลิซึม จัดเป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศ เทสโตเตอโรน และเอสโตรเจน เมื่ออายุมากขึ้น ในบางคนระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงหรือพร่องไป ซึ่งจะมีผลทำให้ป่วยด้วยโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนปกติ

การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมน
1. การซักประวัติ
2. การตรวจร่างกาย
3. การตรวจระดับฮอร์โมน : ซึ่งมีการตรวจได้หลายทางแล้วแต่ชนิดของฮอร์โมน เช่น อาจจะวัดระดับฮอร์โมนจากเลือด น้ำลาย หรือปัสสาวะ

แนวทางแก้ไข
ในแนวทางเวชศาสตร์ชะลอวัย เราเชื่อว่า ฮอร์โมนที่ลดลง ก่อให้เกิดความเสื่อมต่อร่างกาย ถ้าเรามีวิธีหรือแนวทางใด ที่ทำให้ระดับฮอร์โมนต่างๆ กลับมาเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยทำให้เราชะลอความเสือม หรือชะลอวัย ให้ช้าลง ทำให้เราลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในวัยชราได้ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน ฯลฯ เพื่อเพิ่มระดับฮอรโมนต่างๆ ซึ่งแต่ละฮอร์โมน ก็มีแนวทางแตกต่างกัน
2. การให้วิตามิน อาหารเสริม ที่มีผลต่อการกระตุ้นระดับฮอร์โมน เช่น Arginine,leucine,Glutamine ซึ่งช่วยเพิ่มระดับ Growth Hormone
3. ให้ฮอร์โมนทดแทน Hormonal Replacement Therapy (HRT) : เป็นทางเลือกสุดท้าย ที่แพทย์จะเลือกทดแทนฮอร์โมนที่ลดลง หรือหลังจากปฏิบัติตามข้อ 1-2 แล้ว อาการและระดับฮอร์โมนไม่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึง ผลดี ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้