Posted on

Paronychia : เล็บขบ การอักเสบของขอบเล็บ เจ็บ บวม แดง สาเหตุ และการป้องกันรักษา

Paronychia คือ การติดเชื้อ อักเสบของขอบเล็บ( nail fold) พบได้บ่อยๆ และคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเล็บติดเชื้อรา ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด ภาวะอักเสบนี้ ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณโคนเล็บมือ และเล็บเท้า และมักจะเป็นเรื้อรัง แต่ก็อาจพบการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ ซึ่งมักเกิดภายหลังการบาดเจ็บ เช่น ถูกกด หรือ ถูกทิ่มตำที่เล็บ หรือตัวเล็บเองงอกแทงเข้าไปในผิวหนัง แล้วเกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า ‘เล็บขบ’
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค คือ การที่มือและเท้าเปียกน้ำอยู่เสมอ เช่น คนทำครัว แม่ค้าขายของสด ช่างทำเล็บ ช่างสระผม แล้วทำให้หนังคลุมเล็บ(cuticle) เปื่อยยุ่ยหลุดออกไป จนเกิดรอยแยกระหว่างเล็บกับบริเวณโคนเล็บ ดังภาพที่ 2 ทำให้น้ำและเชื้อโรคสามารถแทรกซืมเข้าไปในขอบเล็บ เกิดการอักเสบและติดเชื้อภายหลัง
เชื้อโรคที่ทำให้เกิด มักไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นพวกยีสต์ กลุ่ม Candida ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยไปพบแพทย์ จนเกิดอักเสบเรื้อรัง เป็นระยะเวลานานจนเล็บเสียรูปร่าง( dystrophy) แต่ก็อาจติดเชื้ออื่นได้ ในรายที่รุนแรง อาจพบอักเสบเป็นหนอง บวมแดง ปวดได้
การอักเสบขอบเล็บ แยกได้ง่ายจากเชื้อราที่เล็บอย่างไร
เพราะ ขอบเล็บจะนูน พบรอยแยกบริเวณใต้โคนเล็บ และเล็บไม่เปื่อยยุ่ยเป็นขุย เหมือนในการติดเชื้อราที่เล็บ แต่อาจพบเล็บขรุขระบ้าง

แนวทางการป้องกันและรักษา

1. กรณีที่อักเสบเฉียบพลัน มีบวมแดง ปวด อาจต้องพบแพทย์ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดอักเสบ
2. กรณีที่เล็บขบ จากตัวเล็บเอง อาจต้องทำการถอดเล็บออกบางส่วน
3. กรณีทีเป็นเรื้อรัง ควรพยายามให้มือและเท้าแห้งอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายสร้างหนังคลุมเล็บขึ้นมาใหม่
4. อาจใช้ครีมทาต้านเชื้อรา ทาบริเวณขอบเล็บ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราที่เล็บ แทรกซ้อน

Posted on

สิวที่เกิดจากผลของการรับประทานยา (Acneiform eruptions) ไม่ใช่สิวธรรมดา รักษาอย่างไรให้หาย

สิวที่เกิดจากยา (Acneiform eruptions)

คือ สิวอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากผลของการรับประทานยารักษาโรคบางชนิด เป็นระยะติดต่อกันนานๆ แล้วทำให้เกิดสิวขึ้น ซึ่งการรักษาสิวแบบปกติ ไม่สามารถดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่หยุดยาที่รับประทานอยู่ประจำ มักจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องรับประทานยาดังกล่าวด้วย คือถ้าหยุดยาก็อาจจะทำให้อาการของโรคแย่ลง หรือไม่ดีขึ้น
ลักษณะสิวที่เกิดจากยาบางชนิด(Acneiform eruptions) มักจะมีลักษณะเป็นเม็ดนูนเท่าๆกันทุกเม็ด แบบตุ่มแดงอักเสบ(papules) หรืออาจจะมีเป็นตุ่มหนองได้ (pustules) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระจายไปในตำแหน่งที่สิวปกติมักจะไม่เกิด เช่น ตามแขน หลัง ขา ก้น เป็นต้น

สิวจากยารักษาวัณโรค

กลุ่มยาที่ทำให้เกิดสิวประเภทนี้ ได้แก่
1. กลุ่มยาฮอร์โมน ได้แก่ Gonadotropins,androgen ,Anabolic Steroics ซึ่งพบบ่อยในอาหารเสริมสำหรับเร่งกล้ามเนื้อในคนที่เล่นกล้ามหรือเพาะกาย
2. ยาเสตียรอยด์ ซึ่งใช้รักษาโรคภูมแพ้เรื้่อรัง หรือโรคทาระบบ Immune เช่น SLE
3. กลุ่มยารักษาวัณโรค ได้แก่ Isoniacid,Rifampicin
4. กลุ่มยาซึ่งใช้ในการดมยาสลบ ( Halogen )ได้แก่ Bromide,Iodides,Halothanes
5. กลุ่มยารักษาและป้องกันโรคลมชัก ได้แก่ Dilantin,Phenobarbitone
6. กลุ่มยารักษาโรคทัยรอยด์ ได้แก่ Thiourea,Thiouracil
7. กลุ่มยาอื่นๆ ได้แก่
– Choral hydrate( ยากระตุ้นให้หลับในเด็ก)
– Lithium(ในผู้ป่วยรักษาโรคซึมเศร้า ในคนไข้ทางจิตเวช),
– วิตามินบี 12,
– ยาควินิน (ในการรักษาโรคมาลาเรีย),
– PUVA ( ในการรักษาโรคเรื้อนกวาง),
– Cyanocobalamine ( ในการรักษาโรคโลหิตจางบางชนิด)
แนวการการรักษา: ปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา ถ้าสงสัยว่าสิวที่เกิดขึ้น เป็นจากการรับประทานยาประจำหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นมาก ก็ให้หยุดยาที่รับประทาน หรือเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นแทน หรือถ้าต้องคงการรักษาไว้เพื่อมิให้อาการกำเริบ ก็อาจจะต้องทำการรักษาสิว หรือพบแพทย์ผิวหนังร่วมด้วย

Posted on

ผื่นแพ้สารสัมผัส( Contact dermatitis) : ผื่นคัน ที่เกิดจากการระคายเคือง เกิดได้อย่างไร

Contact dermatis คือ โรคผิวหนังอักเสบ จากการสัมผัสสารภายนอก แล้วก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบแบบ ตุ่มน้ำ ผื่นคัน พบได้บ่อยประมาณ 10 % ของผู้ป่วยผิวหนังทั้งหมด
ผื่นแพ้สัมผัส แบ่งได้ตามกลไกการเกิด ได้ 5 ชนิด คือ

  1. ผื่นภูมิแพ้จากสารสัมผัส ( Allergic contact dermatitis) เป็นผื่นสัมผัส ที่พบได้ในบางคน เช่น แพ้นิกเกิล แพ้ยางสน( ในรองเท้าแตะ) โดยใช้เวลาในการเกิดภูมิแพ้ โดยปฏิกริยาอิมมูนในร่างกาย แล้วเกิดสารภูมิแพ้( hapten)ตุ่มแดงเล็กๆ หรือ แตกเป็นสะเก็ด แล้วคัน
  2. ผื่นผิวหนังอักเสบ จากการระคายเคือง (irritant contact dermatits) โดยเกิดจากสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง เช่น สารจากแมงกระพรุนไฟ สารจากแมลง น้ำยาขัดห้องน้ำ น้ำกรด ด่าง แอมโมเนีย เป็นต้น
  3. ผื่นสัมผัส เนื่องจากพิษของสารร่วมกับแสงแดด ( Phototoxic contact dermatits) เกิดขึ้นจากสารที่สัมผัสกับผิวหนัง เมื่อถูกแสงแดด โมเลกุลของสารเปลี่ยนแปลงแล้วก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ยาทา coldtar, ยาบางอย่าง เช่น Sulfa,Tetracycline,nalidixic acid
  4. ผื่นสัมผัส เนืองจากการแพ้สารร่วมกับแสงแดด( Photoallergic contact dermatits) กลไกคล้าย ข้อ 1 แต่สารที่จะก่อให้เกิดภูมิแพ้ ( hapten) จะต้องถูกแปลงสภาพจากแสงแดดก่อน เช่น น้ำหอม ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันจันทร์ น้ำมันมะกรูด สบู่ หรือผงซักฟอก ที่มีส่วนประกอบของ trichorsalicylanidides
  5. ลมพิษจากสารสัมผัส ( contact urticaria) คือปฏิกริยาที่เกิดการแพ้รุนแรง จนเกิดตุ่มนูน เป็นปื้น คัน ชัดเจน

กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้จากสารสัมผัส คือ การกระตุ้นผ่านระบบภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ครั้งแรก จะทำปฎิกริยาในร่างกาย หลายๆ ขั้นตอน แล้วกลายเป็นสารภูมิแพ้สมบูรณ์( antigen) คงไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะเป็นศัพท์ทางอิมมูนวิทยา โดยใช้เวลาในการเกิด ประมาณ 4-7 วัน ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณทีสัมผัสกับสาร
ลักษณะอาการที่พบ คือ ผิวหนังจะอักเสบแบบ ตุ่มน้ำใส คัน ( acute eczema หรือ Subacute eczema) การซักประวัติโดยแพทย์ จะทำให้แยกออกได้ว่าจากสารก่อภูมิแพ้ภายในร่างกาย หรือจากสารสัมผัส ลักษณะบริเวณของผื่น การดำเนินโรค ลักษณะการทำงาน และสิ่งแวดล้อม
การทดสอบสารที่แพ้ การที่ต้องการจะทราบ ว่าร่างกายแพ้สารอะไรบ้าง มีการทดสอบ ด้วยวิธี Patch test คือ การเทของเหลวตัวอย่าง หยดใส่ฟิลเตอร์ แล้วนำมาแปะไว้ที่แผ่นหลัง แล้วทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง แล้วนำมาอ่านผลการทดสอบ โดยดูว่าบริเวณที่แปะด้วยสารใด ก่อให้เกิดผื่นขึ้นบ้าง จะใช้เป็นหลักฐานในการบ่งบอกสารใดบ้างที่แพ้
แนวทางการรักษา รักษาตามอาการและอาการแสดง เช่น การประคบเปียก เมื่อผื่นอยู่ในระยะกึ่งอักเสบกึ่งเรื้อรัง มีน้ำเหลืองไหล หรือ ผื่นแห้งคัน ก็ใช้ครีมทาสเตียรอยด์ โดยอาจให้รับประทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย หรือไม่ก็ได้
หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เป็นสิ่งที่สำคัญและควรใช้สิ่งทดแทน เช่น แพ้ต่างหูที่ผสมนิเกิล ก็เปลี่ยนไปใช้ต่างหูที่ทำจากทองแท้หรือแพลทินัมแทน

Posted on

คลอรีน ศัตรูตัวร้าย ทำลายเส้นผม ว่ายน้ำไม่ป้องกัน ระวังผมจะแห้ง เปราะ หักง่าย

คลอรีนทำลายเส้นผมได้อย่างไร

คลอรีน เป็นสารที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคที่มักจะผสมในสระว่ายน้ำ เนื่องจากสระว่ายน้ำเป็นสถานที่ที่หลายๆ คนได้ใช้บริการ ทำให้การควบคุมความสะอาดทำได้ยาก จึงต้องมีการผสมคลอรีนเพื่อทำฆ่าเชื้อโรค
ผลของคลอรีนต่อเส้นผม
1. คลอรีนจะไปทำลายโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นผม ทำให้ผมขาดความชุ่มชื้น แห้ง ไร้น้ำหนัก
2. หากว่ายน้ำบ่อยๆ รังสียูวีจากแสงแดดจะไปเปิดเกล็ดผม ทำให้คลอรีนซึมเข้าสู่แกนผมได้อย่างรวดเร็ว แล้วไปฟอกเม็ดสีเมลานินในเส้นผม ทำให้สีผมซีดลงได้
3. ค่าความกรดด่างของน้ำในสระว่ายน้ำ และความร้อน ก็จะทำปฏิกริยากับคลอรีน เสริมการทำลายเส้นผมมากขึ้นไปอีก

การป้องกันแก้ไข สุขภาพเส้นผมจากคลอรีนในสระว่ายน้ำ

1. สวมหมวกยางว่ายน้ำที่แน่นกระชับทุกครั้งที่ว่ายน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำกลางแดดเปรี้ยงๆ
3. ก่อนลงสระว่ายน้ำควรชโลมผลิตภัณฑ์เคลือบเส้นผมป้องกันคลอรีน หรือครีมปรับสภาพเส้นผม หรือน้ำมันมะกอก น้ำมันโฮโฮบา ลูบไล้ให้ทั่วเส้นผม ผมจะนุ่มลื่น และป้องกันการสูญเสียน้ำจากเส้นผมอีกวิธีหนึ่ง
4. เลือกแชมพูสระผมที่ผสมสารป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดเป็นประจำ ซึ่งจากการทดสอบมากมาย ได้มีการค้นพบว่าสาร Octyl-dimethyl PABA ซึ่งเป็นสารกันแดดตัวหนึ่ง มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้กับเส้นผม เพราะเกาะติดแน่นกับเส้นผม ไม่ละลายในน้ำ นอกจากนี้ยังมีสารที่กันแดดที่คิดค้นเพิ่มเติม ได้แก่ Octhyl methoxy-cinnamate และ Benzoquinone ซึ่งสามารถดูดซึมรังสี UVA,UVB ได้ดี
5. เมื่อขึ้นจากสระว่ายน้ำ ควรรีบล้างตัวและสระผมเพื่อล้างคลอรีนออกทันที ด้วยแชมพูสำหรับล้างคลอรีนโดยเฉพาะเพื่อทำความสะอาดได้หมดจด แล้วชโลมด้วยครีมปรับสภาพผมแบบเข้มข้นที่ไม่ต้องล้างออกให้ทั่ว เพื่อคืนความชุ่มชื่นแก่เส้นผมทุกครั้งหลังสระผม
6. การหมักผมหรือทำทรีทเม้นต์เส้นผม อาทิตย์ละครั้งถือว่าจำเป็นสำหรับคนที่ว่ายน้ำเป็นประจำ
7. เลือกรับประทาน กลุ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อเส้นผม อาทิ วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, ธาตุเหล็ก และ ไอโอดีน เป็นต้น

Posted on

มะเร็งผิวหนัง ( Skin Cancer ): ภัยมืด ที่เกิดจากการโดนแสงแดดจัด เป็นเวลานานๆ

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยในคนไทยเมื่อเทียบกับแถบยุโรป อาจเป็นเพราะว่าคนไทยมีผิวคล้ำกว่า และมีสารเมลานินป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet) จากแสงแดดได้ดีกว่า แต่ปัจจุบันพบโรคมะเร็วผิวหนังได้มากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยยนไป ค่านิยมที่เปลี่ยนไป เช่น เริ่มชอบอาบแดดนานๆ เหมือนคนทางตะวันตก ชอบผิวมีแทนหรือคล้ำ มากกว่าสีผิวปกติของตนเอง
ชนิดของมะเร็งผิวหนัง
1. Basal cell carcinoma ถือเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด พบมากในชนชาติยุโรปและอเมริกา ในแถบเอเซียก็พบได้บ่อยเช่นกัน โดยจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 40-79 ปี อาการที่เห็นได้ชัดคือจะมีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง มีลักษณะผิวเรียบมัน และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
2. Squamous cell carcinoma อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพู หรือแดง และด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุย หรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
3. Melanoma เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของมะเร็งชนิดนี้ เริ้มต้นจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวัน แต่จะโตเร็ว ขอบเขตไม่เรียบและอาจมีสีไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ที่บริเวณแผลอาจตกสะเก็ดหรือมีอาการเลือดออกด้วยเช่นกัน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

ส่วนใหญ่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และยังมีปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย อาทิ การสัมผัสกับสารพิษอันตรายเป็นเวลานาน หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนี้

  • มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
  • อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรือทาครีมกันแดด
  • อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
  • ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
  • ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
  • มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ

    การวินิจฉัย มะเร็งผิวหนัง จะอาศัยลักษณะรอยโรคที่พบ ตำแหน่งที่เป็น หรือการตัดชิ้นเนื้อไปดูเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์


การรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง
วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังจะแบ่งไปตามระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ และชนิดของมะเร็งผิวหนังที่เป็น เนื่องจากวิธีการรักษาแต่ละชนิดจะให้ผลกับการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้
1.การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า
เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งค่อนข้างเล็ก โดยแพทย์จะทำใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีลักษณะคล้ายกับช้อนขนาดเล็กคว้านบริเวณที่เป็นเนื้อร้ายออก จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้ที่เนื้อเยื่อโดยรอบ วิธีนี้อาจต้องทำติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง จึงจะสามารถนำเนื้อร้ายออกได้หมด
2. การรักษาด้วยการจี้เย็น
วิธีนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้กับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น โดยจะนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ด หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนสะเก็ดเหล่านั้นจะหลุดออก วิธีการรักษานี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นสีขาวเล็ก ๆ หลงเหลือไว้ที่ผิวหนัง
3. การผ่าตัดผิวหนัง  
เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยจะทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หากบริเวณที่ผ่าตัดออกมีขนาดใหญ่ อาจนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปิดบริเวณแผลเพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น และจะทำให้รอยแผลเป็นน้อยลงได้

Posted on

สิวหิน (Syringoma) หรือสิวข้าวสาร แต่ไม่ใช่สิว แล้วคืออะไร แก้ไขและรักษาได้อย่างไร

สิวหิน (Syringoma) คืออะไร

สิวหิน คือ เนื้องอกของต่อมเหงื่อที่บริเวณใต้ตา ไม่ใช่สิว จะะเอาเข็มไปบ่งหรือเจาะออก จะไม่พบว่ามีหนองหรือหัวสิวหลุดออกมาแต่ประการใด
เกิดได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาว และมักจะมีประวัติคนในครอบครัว เช่น มารดาหรือพี่น้องที่เป็นผู้หญิงมีเนื้องอกชนิดนี้ด้วย
สาเหตุที่แท้จริง ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่เกิดจากเซลล์บุของท่อต่อมเหงื่อในชั้นหนังแท้ มีจำนวนท่อมากผิดปกติ
ลักษณะที่พบ เป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงลักษณะเป็นก้อนสีเนื้อหรือสีออกเหลืองเล็กน้อย ขนาดเล็กประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีความแข็งเล็กน้อย เมื่อใช้นิ้วคลำดูจะรู้สึกคล้ายๆ เม็ดสิวแข็ง แต่ไม่เจ็บ บางคนก็เลยเรียกว่า สิวข้างสาร
ตำแหน่ง ที่พบบ่อย คือ บริเวณรอบดวงตา ทั้งหนังตาบน, หนังตาล่าง มักขึ้นเป็นกลุ่มบางครั้งอยู่ติดกัน จนดูคล้ายเป็นแผ่นหนาใต้ตา เนื้องอกชนิดนี้ยังพบได้ที่อื่น เช่น รักแร้, สะดือ, แผ่นอกด้านบน, หัวหน่าว ในบางรายที่เป็นมาก อาจจะกระจายที่ด้านหน้า ลำตัว ท้องและแขน
การรักษา สามารถทำได้ดังนี้
1. การใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า: ปัจจุบันไม่ค่อยนิยม เพราะจำกัดขอบเขตได้ไม่ชัดเจน อาจจะมีผลต่อผิวข้างเคียงได้
2. การกำจัดด้วยเลเซอร์ CO2 : ปัจจุบันมักจะเจาะออกด้วยเลเซอร์ CO2 เพราะรูเล็ก ไม่มีแผลเป็น แล้วกดออก
3. การแต้มด้วยกรด TCA เข้มข้น ในกรณีที่ก้อนเล็กขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็เสี่ยงต่อรอยดำ และ อาจจะมีผลต่อผิวข้างเคียงได้

Posted on

ผื่นกุหลาบ หรือ ขุยดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) : ผื่นทั่วร่างกาย ที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน

โรคขุยดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะผื่นแดงรูปวงรี คล้ายดอกกุหลาบ พบได้ประมาณ 1-2 % ของประชากร พบมากในช่วยวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อายุประมาณ 15-40 ปี พบได้ทั้งเพศชายและหญิงในอัตราส่วนเท่าๆกัน พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด โดยตรวจไม่พบเชื้อโรคหรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน บางสันนิษฐานเชื่อว่า เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เพราะสามารถหายได้เอง ในเวลา 6-8 สัปดาห์

ลักษณะอาการทางคลินิก: ผื่นอาจมีลักษณะสีแดง กลมรี มีขอบเขตชัด และมีสะเก็ด(scale) บางๆ ที่ขอบของผื่น (ดูภาพประกอบที่ 1 ) ที่เรียกว่า Herald Patch มักมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะพบได้ใน บริเวณลำตัว หรือแขนขาส่วนบน แต่ในรายที่เป็นรุนแรง อาจจะพบผื่น กระจายอยู่ทั่วลำตัว หรือแผ่นหลัง คล้ายต้นคริสต์มาส

การวินิจฉัยโรค: มักสังเกตจากลักษณะของผื่น แต่ขณะเดียวก็ต้องแยกผื่น จากโรคกลาก ซิฟิลิส การแพ้ยา โรคเรื้อนกวาง หรือผื่นจากหัดเยอรมัน หรือการติดเชื้อไวรัสอื่น

การรักษา: โรคนี้มักจะหายได้เอง การให้ยาจึงให้ตามอาการ เช่น ยารับประทานแก้แพ้ แก้คัน ครีมทาลดอาการคัน ส่วนการฉายแสง (Phototherapy) หรือการอาบแสงแดด มักจะใช้ในรายที่เป็นรุนแรงและเรื้อรังมากกว่า 3-4 เดือน