Posted on

สิวที่ไม่ธรรมดา(Uncommon acne) พบไม่บ่อย แต่พบได้ สาเหตุก็ไม่ธรรมดา รักษาก็ไม่ธรรมดา

Portrait of bearded man with amazed or scared emotion on face

สิวที่ไม่ธรรมดา(Uncommon acne) คืออะไร

สิวปกติ เกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมัน แต่สิวไม่ธรรมดา มีสาเหตุจากอย่างอื่น บางอย่างก็ไม่รุนแรง แต่บางอย่างก็รุนแรง ดังนี้
1. สิวหัวช้าง (Acne conglobata) :สิวชนิดนี้ ถือว่ารุนแรงมากที่สุด และเกิดรอยแผลเป็นได้อย่างมาก พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมักจะพบในผู้ชายที่ผิวมัน และในวัยรุ่น โดยจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนร่วงเข้าวัยชรา
ตำแหน่งที่เกิด มักเกิดตามแผ่นหลัง ก้น ต้นคอ ใบหู ที่ใบหน้ามักจะไม่รุนแรง
ลักษณะของสิว เกิดเป็นได้ทุกรูปแบบ และความรุนแรง ตั้งแต่สิวอุดตัน หัวเปิด(หัวดำ)รวมกันเป็นกลุ่มๆ จนถึงสิวอักเสบ ขนาดใหญ่ๆ เป็นุถุง ( acne cysts) ก็มี ทำให้มีรอยแผลเป็นหลงเหลือ ทั้งแบบแผลเป็นนูน(Keloids) แผลเป็นหลุม(pick scar) หรือท่อเปิดเรื้อรัง(sinus tracts)
การรักษา: มักจะรักษาหลายๆ รูปแบบควบคู่กัน ตั้งแต่การใช้ยาทา ยารับประทานขนาดสูง ทั้งยาปฏิชีวนะ และยากลุ่มเรตินอยด์ขนาดสูงๆ ในระยะเวลานานกว่า 6 เดือน และเลเซอร์หลายชนิด แล้วแต่ปัญหา เพราะสิวประเภทนี้เป็นเรื้อรังและมักทิ้งร่อยรอยโรคไว้มาก

2. สิวรุนแรงเฉียบพลัน (Acne Fulminans): สิวชนิดนี้มักจะเกิดอย่างเฉียบพลัน ในชายอายุประมาณ 13-22 ปี มักจะมีอาการไข้ ปวดข้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดและอ่อนเพลียร่วมด้วย สาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อสิว P.acne หรือ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ตำแหน่งและอาการที่เกิด พบบ่อยที่ใบหน้า หน้าอกและที่หลัง เป็นสิวอักเสบตุ่มหนอง แดง เจ็บ และแตกออกเป็นแผลมีสะเก็ดคลุม เมื่อหายเกิดแผลเป็นมากมาย ผู้ที่เป็นสิวประเภทนี้
การรักษา:  การใช้ยาทา ยารับประทานขนาดสูง ทั้งยาปฏิชีวนะ และยากลุ่มเรตินอยด์ขนาดสูงๆ ในระยะเวลานานกว่า 6 เดือน และเลเซอร์หลายชนิด
3. สิวรอบปาก (Perioral dermatitis): มักพบได้บ่อยในผู้หญิงอายุ 20-30 ปี ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากปัจจัยกระตุ้นจากการแพ้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ การแพ้น้ำยาบ้วนปาก สบู่ หรือยาคุมกำเนิด การล้างหน้าด้วยสบู่แรงๆ แสงแดด การมีพฤติกรรมชอบถูบริเวณที่เป็นบ่อยๆ ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
ตำแหน่งและอาการที่เกิด มีลักษณะเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้าใส หรือตุ่มหนอง เกิดพร้อมๆ กันทั้ง 2 ข้างก็ใบหน้ารอบๆ ปาก เช่น คาง ร่องจมูก มีอาการแสบๆ คันๆ
การรักษา: หยุดใช้เครื่องสำอาง สบู่ ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก ที่น่าจะเป็นสาเหตุ และให้ยารับประทานกลุ่มปฏิชีวนะ และยาทาสิวอักเสบทั่วๆไป

4. สิวแกรมลบ (Gram Negative Folliculitis) : เป็นสิวอักเสบหัวหนอง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ ที่ไม่ใช่ P.acne เช่น E.coli,Proteus,Pseudomonas,Kleibsiella ซึ่งต้องขูดตุ่มหนองไปเพาะเชื้อดู สังเกตว่าผู้ที่เป็นสิวประเภทนี้ มักจะไม่พบสิวอุดตันร่วมด้วย และมีประวัติการใช้ยาทากลุ่มปฏิชีวนะ ( เช่น CM lotions) เป็นระยะเวลานาน และสิวไม่ดีขึ้น
การรักษา: อาจจะต้องเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มที่ไวต่อเชื้อแบคทีเรียนี้ เช่น Bactrim,Ampicillin หรือการให้รับประทานยากลุ่มเรตินอยด์ร่วมด้วย
5.สิวจากเชื้อรา( Pityrosporum folliculitis) : สิวอักเสบตุ่มหนอง ตุ่มแดง ที่เกิดจากเชื้อยีสต์ P.ovale หรือ เชื้อเกลื้อน (Malassezia furfur) มักเป็นที่หน้าอก และหลังช่วงบน แยกได้ยากจากสิวอักเสบสิว นอกจากการขูดไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ด้วยน้ำยา KOH หรือการรักษาสิวปกติแล้วไม่ดีขึ้น
การรักษา: นอกจากจะรักษาเหมือนสิวทั่วไปแล้ว อาจจะต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อยีสต์ร่วมด้วย นาน 6-8 สัปดาห์

6.สิวก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual acne) พบได้บ่อยมาก ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยหญิงที่เป็นสิว มักจะเกิดในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะมีการคั่งของน้ำในร่างกายจากภาวะฮฮร์โมนเพศหญิง ทำให้รูเปิดของต่อมไขมันเล็กลง จึงทำให้การระบายไขมันจากต่อมไขมันไม่ดี จึงเกิดการอุดตัน
ตำแหน่งและอาการที่เกิด มักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น คาง ร่องจมูก หัวคิ้ว แก้ม แต่ที่พบได้บ่อยๆ คือสิวรอบปาก มักจะเป็นสิวอักเสบหัวแดง หรือสิวหัวหนองได้
การรักษา: สิวประเภทนี้มักจะไม่รุนแรง ไม่กี่วันสิวก็จะยุบหรือหายเป็นปกติ บางครั้งแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมน
7. สิวจากเครื่องสำอาง(Acne cosmetica) เชื่อว่าครีมที่ใช้เป็นเครื่องสำอางบนใบหน้าเป็นเวลานานกระตุ้นให้เกิดสิวได้ มักพบจากเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของ Olive oil,white pitrolatum,lanolin,butyl stearate,isopropyl myristate,sodium lauryl sulfate,lanolin alcohol และ oleic acid โดยมักพบเป็นสิวอุดตันหัวปิด บริเวณคาง แก้ม และอาจจะเกิดการอักเสบเป็นหนองได้ มักพบว่ายิ่งใช้เครื่องสำอางปกปิด ก็ยิ่งจะเป็นมากขึ้น
การรักษา: หยุดใช้เครื่องสำอางประเภทครีม ที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าว มากกว่า 6 เดือน แล้วเปลี่ยนเครื่องสำอาง แนวทางการรักษาก็เหมือนกับการรักษาสิวอุดตัน และสิวอักเสบทั่วไป

8. สิวจากผลิตภัณฑ์ล้างหน้า(Acne detergicans) มักเกิดจากสบู่ล้างหน้าที่มีส่วนประกอบของ Tars,sulfur,ยาปฏิชีวนะ ( เช่น Hexachlorphene) หรือสบู่ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดสิว(comedogenic agents) และจะเป็นมากถ้าล้างหน้าบ่อยๆ เกิน 4 ครั้งต่อวัน มักจะเป็นสิวอุดตันหัวปิด กระจายสม่ำเสมอในบริเวณคาง และแก้ม
การรักษา: หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ล้างหน้าดังกล่าว ลดการล้างหน้าบ่อยๆ และทาครีมละลายสิวอุดตัน กลุ่มวิตามินเอ หรือรับประทานยากลุ่มเรตินอยด์ร่วมด้วย
10.สิวจากอาชีพ (Occupational acne) มักเกิดในคนงานที่ทำอาชีพบางอย่าง ที่สารเคมีในโรงงานกระตุ้นให้เกิดสิวได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมทำน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม คนงานทำถนน(ถนนลาดยาง ลูกรัง) โรงงานกลั่นน้ำมันดิน(Coal tars) สิวที่เกิดมักจะอักเสบ ตามรูขุมขน โดยมักจะเกิดหลังทำงานลักษณะนี้มากกว่า 6 สัปดาห์ พบบ่อยในตำแหน่งที่สัมผัสกับสารเคมีดังกล่าว เช่น ต้นแขน ขา

10.สิวจากการกดทับ(Acne mechanica) โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการกดทับนานๆ การดึงรั้ง การถูที่ผิวหนัง ที่ทำซ้ำกันบ่อยๆ ทำให้เกิดการหนาตัวของหนังกำพร้า(Hypercornification) ทำให้รูขุมขนอุดตัน จึงมักจะเกิดเป็นสิวอักเสบ นูนแดง หรือสิวหัวหนอง มักพบได้บ่อยในบริเวณก้น เอว(ตามขอบกางเกงใน) คาง ใต้ตา( ขอบแว่น) หลัง แก้มข้างใดข้างหนึ่ง(กรณีที่ชอบนอนตะแคงข้างนั้นบ่อยๆ)
การรักษา: หลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนยาที่ใช้รักษา จะรักษาเช่นเดียวกับการรักษาสิวทั่วไป
11. สิวในผู้สูงอายุ (Senile or solar comedone,Favre’-Rachouchot’s disease): มักพบในคนสูงอายุที่โดนแสงแดดมากๆ และนานๆ เช่น ชาวนา ชาวสวน มักพบเป็นสิวอุดตันหัวขาว บริเวณรอบๆ ตาและโหนกแก้ม และอาจจะขยายเป็นสิวหัวดำ ไม่มีลักษณะเป็นสิวอักเสบ บวมแดง โดยเชื่อว่าเกิดจากแสงแดดไปทำลายเนื้อเยื่อรอบๆรูขุมขน จึงทำให้รูขุมขนกว้างและผิดปกติ

Posted on

Lichen simplex chronicus : ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เกาเกา คันคัน จนกลายเป็นปื้นหนาๆ

Lichen simplex chronicus คือ อาการของโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นกลุ่มหนึ่งในกลุ่มอาการของ eczema แบบเรื้อรัง มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยคัน และเกาอยู่บ่อยๆ จากสาเหตุผื่นคันต่างๆ เช่น ยุงกัด แมลงกัด ซึ่งอาจพบที่เดียว หรือหลายๆ ที่ก็ได้

ลักษณะของผื่นที่พบ จะเป็นปื้นๆสีเนื้อ มีขอบเขตชัดเจน หนา ดังในภาพด้านบน พบบ่อยบริเวณ ต้นคอ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า หัวเข่า หลังเท้า โดยมีขนาดตั้งแต่ 2-5 ซม.เป็นส่วนใหญ่

แนวทางการรักษา 

  1. ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า โรคนี้เกิดจากการเกามากๆ บ่อยๆ เนื่องจากการคัน ดังนั้นจะหายได้ ต้องพยายามไม่เกาหรือถูผิวหนัง เมื่อมีอาการคัน ให้ทายาแก้คันกลุ่ม Steroids ที่มีฤทธิ์แรงๆ เช่น Clobetansol creams เพื่อระงับอาการคัน
  2. การหายจากโรค อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าจะยับยั้งการเกาได้ดีแค่ไหน
  3. กรณีที่มีปื้นหนา หรือ แห้งเป็นขุย การใช้ครีมกลุ่มที่ผสม Urea เพิ่มความชุ่มชื้น หรือ Salicylic เพื่อลอกขุย ก็อาจทำให้รอยโรคหายเร็วยิ่งขึ้น
Posted on

Atopic dermatitis : โรคผื่น ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ตุ่มน้ำพองใส ในคนที่มีประวัติภูมิแพ้

Atopic dermatitis คือ ภาวะโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ในกลุ่มอาการ แบบ ตุ่มน้ำพองใส ( eczema ) ซึ่งมีสาเหตุความผิดปกติ จากภายในร่างกายเอง
อุบัติการณ์ มักพบในกลุ่มคนที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น โดยมักมีประวัติคนในครอบครัวมีปัญหาร่วมด้วย
ลักษณะอาการที่ตรวจพบ แบ่งได้เป็นกลุ่มอายุดังนี้
1. ในเด็กเล็ก ( อายุ 3 เดือน-3ปี)
มักพบมีอาการที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้มและคาง มักมีลักษณะเฉียบพลัน(Acute eczema) คือ มีตุ่นน้ำพองใส คัน และอาจแตก ติดเชื้อแทรกซ้อนมีแผลเป็นได้
2. ในเด็กที่โตขึ้น( อายุ 2-12 ปี)
ผื่นมักจะพบบริเวณข้อพับ เช่น ซอกคอ ข้อพับ แขน ขา เป็นมากเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น หน้าร้อน เหงื่อออกมาก หรืออากาศแห้ง โดยมีอาการคันมาก ๆ ผื่นจะนูนเล็กน้อย ไม่ค่อยเป็นตุ่มน้ำ หรือน้ำเหลืองให้เห็น

3. เด็กที่อายุ มากกว่า 12 ปี หรือผู้ใหญ่
ผื่นจะเห็นเด่นชัดขึ้น บริเวณข้อพับเช่นกัน แต่จะหนาเป็นปื้น มักจะคัน และเกาจนเป็นแผล มักเป็นเรื้อรังและไม่หายขาด
แนวทางการรักษา
1. การใช้ครีมกลุ่มเสตียรอยด์ ทาบริเวณที่มีอาการ โดยเลือกชนิดของยา และความเข้มข้นของยาแตกต่างกันแล้วแต่บริเวณและลักษณะผื่น แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่อง และระยะเวลานาน เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้
2. หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนหรือแห้งเกินไป
3. เลือกใช้สบู่หรือครีมที่มีส่วนผสมของ Lanolin หรือ Ceramide เพื่อลดอาการผิวแห้ง อาการคัน
4. เลือกครีมบำรุง เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ
5. ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาที่ทำให้เกิดแผลอักเสบแทรกซ้อน


Posted on

Eczema : อาการของผิวหนังอักเสบ ที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายโรค

Eczema คือ ภาวะโรคผิวหนังอักเสบ( dermatitis) ที่พบได้บ่อย ถึง 1 ใน 3 ของโรคผิวหนังที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ มักมาด้วยอาการผื่นคัน บวม หรือแดงตามผิวหนัง แต่ในบางรายอาจเกิดเป็นแผลพุพอง มีน้ำหนอง หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย
โดยภาวะผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และโรคผื่นแพ้สัมผัส อย่างไรก็ตามภาวะนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้
สาเหตุของการโรคผิวหนังอักเสบแบบ Eczema แพทย์ส่วนใหญ่จะซักประวัติพร้อมการตรวจร่างกาย และลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้น แล้วแบ่งการวินิจฉัยเป็น 2 สาเหตุดังนี้
1. สาเหตุภายนอกร่างกาย( Exogenous cause)เช่น การสัมผัสสารระคายเคือง หรือ การแพ้สารต่างๆ โรคภูมิแพ้ หรือ อื่นๆ เช่น แมลงกัดแล้วแพ้ ซึ่งเมื่อกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว ก็ทำให้หายขาดได้
2. สาเหตุภายในร่างกาย( Endogenous cause) มีได้หลายชนิด และมีลักษณะจำเพาะแตกต่างกัน ได้แก่ โรคต่างๆ ดังนี้ Atopic dermatitis ,Seborrheic dermatitis ,Nummular eczema , Dyshidrosis ,Stasis dermatitis ,Lichen simplex chronicus

อาการของโรคผิวหนังอักเสบแบบ Eczema
อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีความแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย ขึ้นกับระยะของโรค และชนิดของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ โดยแบ่งออกคร่าวๆได้ดังนี้
1. Acute eczema เป็นระยะที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสเล็กๆพองขึ้นบริเวณผิวหนัง พร้อมๆ กับมีอาการบวมแดงรอบๆ ผื่น มักมีอาการคันอย่างรุนแรง เกาจนตุ่นน้ำแตกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
2. Sub-acute eczema พบว่ารุนแรงน้อยกว่า แบบแรก ผิวหนังจะเริ่มแห้งและลอกเป็นขุย อาจมีร่องรอยการอักเสบหรือเกาได้บ้าง แต่น้ำเหลืองมักจะแห้งและตกสะเก็ด พร้อมๆกับผิวหนังมีการหนาตัวขึ้น
3. Chronic eczema เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง เป็นบ่อยๆ เมื่อมีการเกาหรือถูซ้ำนานๆ ทำให้ผิวหนังด้านบนหนาตัวเป็นปื้น แลเห็นที่ชั้นผิวหนังเป็นตุ่มหรือเป็นริ้ว

หลักการรักษา
1. ยาจำพวกสเตียรอยด์ ถือว่าเป็นยาหลักที่สำคัญที่สุดในการรักษา เพราะใช้แก้ปัญหาการอักเสบของผิวหนังโดยตรง โดยถ้าเป็นไม่มากเฉพาะที่ก็อาจใช้ครีมทาอย่างเดียว ซึ่งมีหลายยี่ห้อ ตามแต่ความรุนแรงหรือความเข้มข้นของยา เช่น Prednisil cram,Betnovate cream,Sambug cream เป็นต้น แต่ถ้าเป็นมากและรุนแรง อาจต้องให้ยาสเตียรอยด์ในกลุ่มที่รับประทาน เช่น Prednisolone
2. แผลให้แห้งเสีย ในกรณีที่เป็นเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองใหลเยิ้ม ไม่แนะนำให้ใช้ครีมทาในช่วงดังกล่าว ควรทำแผลให้แห้งเสียก่อน หรือแช่แผลในด่างทับทิม หรือ ใช้ผ้าก็อซชุบน้ำยา Borrow’s solutions เพื่อให้แผลแห้งก่อน จึงจะใช้ครีมทา
3. ภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรัง( chronic eczema ) ใช้ระยะเวลาในการหายค่อนข้างนาน และมักไม่หายขาด ถ้าสาเหตุเกิดจากภายในร่างกาย บางทีเป็นๆ หายๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี ทำให้คนไข้มักเปลี่ยนหมอ หรือที่รักษาบ่อยๆ การได้เข้าใจภาวะและสาเหตุของโรค จะเป็นสิ่งที่ดีที่แพทย์ควรบอกคนไข้ให้รับทราบตั้งแต่ต้นของการรักษา

Posted on

CO2 Laser : เลเซอร์ ที่เสมือนมีดผ่าตัดไร้โลหิต พิชิต หูด ใฝ ขี้แมงวัน กระเนื้อ สิวหิน ต่อมไขมัน

CO2 Laser คืออะไร

คือ เลเซอร์รุ่นแรกๆ โดยได้เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ในการผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง( Benign tomor lesions) เช่น ใฝ ขี้แมลงวัน ฯลฯ แพทย์ผิวหนังได้ขนานนาม Co2 laser คือม้าใช้งานทางเลเซอร์ เพราะสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ในการผ่าตัดเล็กๆ ไม่เกิดรอยเลือด และมีความแม่นยำในการผ่าตัดมากกว่าใบมีดผ่าตัด แถมไม่มีเลือดให้ดูน่ากลัว ไม่ต้องซับเลือด
เหตุผลที่ไม่มีเลือด เพราะ CO2 laser เป็นเลเซอร์ที่ให้ความถี่ช่วงคลื่น) 10,600 nm จะดูดซึมได้ดีในน้ำ ซึ่ง (80% ของผิวหนังคนเราประกอบด้วยน้ำ) ทำให้พลังงานที่ปล่อยออกจากเครื่องเลเซอร์นี้เกือบ 90 % ( ประมาณ 20-50 ไมโครเมตร) ดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อ ทำให้เกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้หลอดเลือดหดตัวและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีเลือดไหลให้เห็นได้

CO2 Laser รักษาอะไร

1. กระเนื้อ (seborrheic keratosis) กระตื้น กระแดด กระในคนสูงอายุ
2. ขี้แมลงวัน ใฝ
3. หูด ติ่งเนื้อ (wart)
4. สิวหิน ( syringoma )
5. แผลเป็นนูน (Keloid)
6. ต่อมไขมันอุดตันอุดตันชนิดต่างๆ ( Xanthelasma , adenoma sebaceous )
7. หลุมสิวบางชนิด ( Ice -Picked Scars
หลังทำอาจจะมีสะเก็ด หลุดออก ใน 1-3 วัน หรืออาจจะรอยดำได้ โดยเฉพาะในคนสีผิวเข้ม ควรเลืี่ยงแดดหลังทำอย่างน้อย 2 อาทิตย์

Fractional CO2 Laser ต่างจาก CO2 Laser อย่างไร

Fractional CO2 Laser: ก็คือ CO2 Laser ความยาวช่วงคลื่น 10,600 nm เหมือนกัน แต่เปลี่ยนหัว Hand piece จากที่ปล่อยลำแสงเป็นลำตรงเส้นเดียว ที่ใช้ตัดเนื้อเยื่อ ให้ปลดปล่อยลำแสง เป็นจุดเล็กๆ เพื่อแบ่งซอยพลังงานจากลำแสงขนาดใหญ่ ให้เป็นชนาดเล็กลง จำนวนมาก   และนำมาใช้ประโยชน์ในการการลอกผิวหน้า ผลัดเซลล์ผิวหน้า รักษาหลุมสิว ริ้วรอยเล็กๆ หรือฝ้า กระ ชนิดตื้น หลังยิงโอกาสเกิดรอยดำได้เช่นกัน โดยเฉพาะในคนสีผิวเข้ม ควรเลี่ยงแดดหลังทำ อย่างน้อย 2 อาทิตย์เช่นกัน

CO2 Laser กำจัดขี้แมงวัน เห็นผลทันทีหลังทำ
CO2 Laser กำจัดใฝ เห็นผลทันทีหลังทำ

Posted on

ครีมทาหน้าขาว ตรวจสอบ ให้ดีก่อนซื้อ ว่าส่วนประกอบคืออะไร ได้ผล ปลอดภัยมั้ย

ครีมหน้าขาวทำงานอย่างไร

กลุ่มสารที่ทำให้ผิวขาวขึ้น( Whitening creams) ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือที่คลินิกผิวพรรณทั้งหลาย จำแนกตามกลไกการทำงานได้ดังนี้

  1. สารป้องกันแสงแดด เพื่อลดการทำลาย หรือ การสร้างเม็ดสีมากขึ้น ได้แก่ ครีมกันแดดทั้งหลาย ซึ่งควรมีค่ากันแดดอย่างน้อย SPF > 25 PA ++
  2. รบกวนการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase หรือ Melanosome ในขบวนการสร้างเม็ดสีผิว แบ่งย่อยๆ ได้เป็น
    2.1 Hydroquinone เดิมใช้ผสมในครีมรักษาฝ้า เพื่อลดและลบรอยดำจากฝ้า มีส่วนผสมตั้งแต่ 2-5 % HQ แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลข้างเคียงได้ และทำให้ฝ้ากลับมาเป็นใหม่ได้จากผลของยาเอง
    ดังนั้นในปัจจุบัน ทางอ.ย ของไทย จึงห้ามผสมในเครื่องสำอางค์ แต่ในคลินิก ถ้าอยู่ในความดูแลของแพทย์ ยังสามารถใช้ได้
    2.2 Vitamin C อาจในรูปของสารละลาย (สำหรับใช้ในการทำไอออนโต) หรือในรูปของครีมทาผิว หรือ การรับประทานวิตามินซีเม็ด ซึ่งกรณีการรักษาฝ้า แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามิน C ควบคู่ไปด้วย ประมาณ 100-200 มก.ต่อวัน
    2.3 Kojic Acid ซึ่งใช้เป็นส่วนผสม ของผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ครีมรักษาฝ้า ครีมทาหน้าขาว

2.4 Arbutin ส่วนประกอบคล้ายๆ ไฮโดรคลิโนน แต่ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์เมลานิน มักนำมาใช้รักษาฝ้า แทน ยาไฮโดรคลิโนน แม้ให้ผลการรักษาช้ากว่า แต่ก็มีผลข้างเคียงน้อย
2.5 Licorice เป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากแป้งสาลี ชะเอม ปัจจุบันนิยมนำมาผสมในเครื่องสำอาง เช่นแป้งรองพื้น ครีมบำรุงผิวหน้า ผิวกาย ลิปติค ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า
2.6 สารสกัดทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีการค้นคว้าอีกมากมาย แต่ยังไม่ฮิตติดอันดับสำหรับการนำมาใช้เท่าสารเคมีที่กล่าวมาข้างบน อาทิ Green Tea Extract, Compositae(สารสกัดจาก matricaria) แต่ในอนาคตอาจมีสารกลุ่มนี้มากขึ้นกว่านี้

ดังนั้นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครีมทาหน้าขาว ก่อนซื้อสามารถยึดหลักว่าต้องมีส่วนประกอบต่างๆ ตามข้างต้น และถ้ายิ่งมีส่วนประกอบผสมกันหลายตัว น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพตามที่ต้องการได้

Posted on

สิว เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย แม้ในทารกแรกเกิด(acne neonatorum) และสิวในเด็กเล็ก(acne infantum)

สิวในทารกแรกเกิด(Acne neonatorum)

   คือ สิวที่เกิดได้ในทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 1 เดือน พบได้ประมาณร้อยละ 20 ลักษณะของสิวจะเป็นแบบไม่ อักเสบ(comedone) หรือสิวอักเสบแดงเป็นเม็ดเล็กๆ (papule) หรือสิวหัวหนอง(pustule) มักพบบริเวณแก้มและหน้าผาก มักไม่พบตามแขน ขา หรือลำตัว
สาเหตุ: ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากผลฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน จากแม่สู่เด็ก และกระตุ้นให้การทำงานของต่อมไขมันในเด็กมากกว่าปกติ มักพบบ่อยในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เพราะว่าอาจจะมีฮฮรโมน Testosterone ในอัณฑะและต่อมหมวกไตหลั่งมากกว่าปกติด้วย
แนวทางการรักษา: มักจะหายได้เองภายใน 3-4 เดือนแรก จึงไม่จำเป็นต้องรักษา แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ไม่ควรแนะนำให้ใช้ครีมหรือทายารักษาสิว เพราะอาจจะระคายเคืองจากยาได้ ถ้าเป็นมากอาจจะต้องปรึกษาหรือพบแพทย์ผิวหนังจะปลอดภัยกว่า

สิวในเด็กเล็ก(Acne infantum,Juvenile acne)

คือ สิวที่เกิดในเด็กอายุ 3-6 เดือน จะมีอาการรุนแรงกว่าสิวในทารกแรกเกิด ลักษณะของสิวก็เป็นได้ตั้งแต่ แบบไม่อักเสบ(comedone) หรือสิวอักเสบแดงเป็นเม็ดเล็กๆ (papule) หรือสิวหัวหนอง(pustule) และมักจะเป็นนานหลายเดือน ถึง 1-2 ปี โดยมักจะพบว่าพ่อแม่มีประวัติสิวรุนแรงเช่นกัน บริเวณที่พบก็ที่แก้ม จมูกและหน้าผาก มักจะไม่พบที่แขน ขา หรือตามลำตัว
 สาเหตุ: นอกจากจะเกิดจากปัญหาฮอร์โมนเช่นเดียวกับสิวในทารกแรกเกิดแล้ว อาจจะต้องพิจารณาว่า สิวนี้อาจจะเกิดได้จากการสัมผัสสารเคมี เช่น น้ำมัน ครีม หรือโลชั่นทาผิวด้วย
แนวทางการรักษา: ในเด็กบางราย อาจจะต้องให้การรักษาเหมือนสิวในวัยรุ่น เพราะมักจะไม่หายเอง พ่อแม่ควรต้องเข้าใจเช่นกัน ยาทาที่ใช้ก็มักจะประกอบด้วยยากลุ่มเรตินอยด์,Benzyl peroxide ความเข้มข้นต่ำๆ,ยารับประทานแก้อักเสบ เช่น Erythromycin syrub, นานติดต่อกัน 3-6 เดือน และนอกจากนี้ควรต้องหลีกเลี่ยงครีม โลชั่นทาผิว ที่อาจจะแพ้ได้

Posted on

ปานดำ (Pigmented Birthmarks) จุดดำ ทำให้เกิดตำหนิกับผิว ที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง

ปานดำ คืออะไร

คือ ความผิดปกติของสีผิว โดยจะสีดำหรือคล้ำกว่าผิวปกติ ที่มีทั้งลักษณะเรียบหรือนูน โดยเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวมีมากเกินไป เม็ดสีที่มากผิดปกตินี้ ปานดำ มักจะเกิดในหนังกำพร้า (Dermis) ก็พบได้ในชั้นหนังกำพร้า (Epidermis )
ปานดำมักปรากฏตั้งแต่แรกเกิด มีทั้งสีน้ำตาล ดำ น้ำเงิน หรือน้ำเงินเทา อาจจะหายได้เอง หรือไม่หายไป เมื่อโตขึ้น ขอกล่าวเฉพาะที่พบได้บ่อยๆ ดังนี้
1. ปานสีกาแฟใส่นม (Café-Au-Lait Spots) มีลักษณะเป็น ผื่นราบสีน้ำตาลอ่อน ปรากฏตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน มักจะมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน จะขยายขนาดขึ้นตามการเจริญเติบโต และจะคงอยู่ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะไม่พบมีความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย แต่หากผู้ป่วยที่มีปานชนิดนี้ จำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบมีโรคพันธุกรรมบางชนิดได้ ดังนั้น หากพบปานขนาดใหญ่หรือมีหลายอัน ควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
2. ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots) พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือน้ำเงินเข้ม บริเวณก้นและสะโพก แต่อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ ปานชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อเข้าสู่วัยเด็กตอนต้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา

3. ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) คือ เป็นปานที่เราคุ้นเคย และพบได้บ่อยๆ บางคนเรียกว่า ไฝสีดำเข้ม มีขนาดแตกต่างกัน แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด มักปรากฏตามหนังศีรษะหรือแขนขา ปานดำชนิดนี้เกิดจากการผลิตเซลล์เม็ดสีผิวมากเกินไป ส่วนใหญ่ ปานจะค่อย ๆ เล็กลงจนจางหายไปเอง หรืออาจเข้มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจจะมีลักษณะนูน หรือบุ๋มเป็นหลุม มีขนขึ้น ขนาดของปานมีตั้งแต่เล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร จนถึงใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร เป็นปานดำที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ถ้ามีขนาดโตมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ปานดำเบคเกอร์ ( Becker’s nevus หรือ Pigmented hairy epidermal nevi) เป็นปานดำ ชนิดที่พบได้บ่อย และมักพบในผู้ชาย โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่ออายุระหว่าง 10-15 ปี โดยจะเริ่มปรากฏเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ แล้วขยายออกเป็นแผ่นปื้นประมาณ 10-13 ซม.เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะเริ่มสังเกตมีเส้นขนขึ้นมากกว่าปกติในบริเวณปานดำนั้น

5. ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นปานสีน้ำเงินหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนใหญ่ (90%) เป็นข้างเดียวของใบหน้า ตั้งแต่หน้าผาก ขมับและแก้ม บางรายอาจพบในตาขาวร่วมด้วย
ประมาณกึ่งหนึ่งของปานโอตะ เป็นตั้งแต่เกิด ส่วนที่เหลือเริ่มเป็นเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (5 ต่อ 1) ปานโอตะพบได้บ่อยถึง 0.2%-0.8% ของคนเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทย
ความเข้มของปาน อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการมีประจำเดือน ความอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ หรือฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม ไม่เคยพบว่า ปานชนิดนี้จะหาย ได้เอง

แนวทางการรักษาปานดำ : ปานดำเกือบทุกชนิด ไม่หายเอง ยกเว้น ปานมองโกเลียน ที่หายเองได้ ถือเป็นปัญหาด้านความสวยงาม เป็นหลัก แต่ก็มีบางชนิดที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็ง หรือสัมพันธ์กับโรคหรือระบบบางอย่างได้ การกำจัดปานดำ อาจะทำได้ดังนี้
1. การกำจัดขนที่บริเวณปานดำ ด้วยการทำการกำจัดเลเซอร์ Long-Pulsed :Nd-Yag laser ได้แก่ Gentel YAG Laser
2. ปานดำทำให้จางลงได้ ด้วยการทำการรักษาด้วย Q-Switchec:Nd-Yag laser 1064 nm เพราะถือว่าได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย ซึ่งทีได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน คือ Revlite laser, Pico lasers
3. กรณีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นก้อนนูน ไม่ลึก อาจจะกำจัดออกด้วย เลเซอร์ CO2

Posted on

สิว ไม่อยากทายา ไม่อยากหาหมอ ซื้อยาทานเอง เลือกยาตัวไหน มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

กลุ่มยารับประทานรักษาสิว

ยารับประทานในการรักษาสิวต้องมีสรรพคุณในการยับยั้งสาเหตุการเกิดสิว คือ จากฮอร์โมน หน้ามัน ไขมันอุดตันท่อไขมัน ผิวแพ้ และการอักเสบติดเชื้อสิว ดังนั้นกลุ่มยาก็จัดแบ่งออกตามหน้าที่ดังนี้
1. ยาที่มีฤทธิ์ลดการทำงานของต่อมไขมัน Sebaceous Gland ให้ผลิตไขมันลดลง หน้าไม่มัน ก็ทำให้ป้องกันการเกิดสิวได้ ได้แก่ 
      1.1 ยาคุมกำเนิด กลุ่มยาคุมกำเนิดจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมน Progesterone เฉพาะชนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามาก เมื่อทำให้ไขมันนี้ทำงานลดลง หน้าก็มันลดลง โอกาสเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดสิวก็ลดลง
ข้อควรระวัง
-ผู้ชายไม่ควรรับประทาน เพราะ อาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง และนมโต แบบผู้หญิงได้ แม้จะหยุดยา
– ผู้หญิง อาจมีปัญหากับรอบเดือนคลาดเคลื่อนได้ ถ้ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าคนปกติ
      1.2 ยายับยั้งฮอร์โมนเพศชาย อาทิ spinolactoneปัจจุบันไม่นิยมกันแล้ว เนื่องจากเห็นผลได้ช้า โดยสิวจะเริ่มยุบภายใน 2-3 เดือนแรก หน้ามันค่อยๆลดลง
ข้อควรระวัง
– ผู้ชายไม่ควรรับประทาน เพราะ อาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง และนมโต แบบผู้หญิงได้
– ผู้หญิงอาจะมีน้ำหนักตัวเพิ่ม และเป็นฝ้าได้ง่าย
 

1.3 ยากลุ่มวิตามินเอ (Retionoids ) ก็คือ Roaccutane,Acnotin,Isotane ,Isotretinoin เป็นยาที่มีประสิทธิภาพมาก ในการออกฤทธิ์ลดขนาดและการผลิตไขมัน ของต่อมไขมัน ลดการหนาตัวของผิวหน้งบริเวณรูขุมขน ทำให้ลดการเกิดการอักเสบ ของเชื้อสิว P.acnes จึงทำให้หน้ามันลดลง รักษาได้ทั้งสิวอุดตัน และสิวอักเสบ ยากลุ่มนี้เป็นที่นิยม แต่ก็มีผลข้างเคียงมาก
ข้อควรระวัง

  • ริมฝีปากแห้ง คอแห้ง
  • จมูกและตาแห้ง
  • ผิวหน้าแห้งตึง
  • สิวอาจเห่อได้ เมื่อรับประทานยาในสัปดาห์แรก
  • ทำให้ทารกในครรภ์พิการ หรือ แท้งได้ ดังนั้นจะต้องหยุดยาจนครบ 1 เดือนก่อน จึงจะตั้งครรภ์ได้
  • ไม่แนะนำให้บริจาคเลือดขณะรับประทานยา กลุ่ม Retinoids
  • มีอาการซึมเศร้าได้ หลังหยุดยาทันที แต่อัตราการเกิดน้อย ถ้าอยู่ในความดูแลของแพทย์
  • เมื่อรับประทานยาเกิน 6 เดือน ควรตรวจเลือด และร่างกายเกี่ยวกับการทำงานของตับ ระดับไขมันในเลือด เพราะอาจจะทำให้ระดับ SGOT,SGPT และ Triglyceride สูงขึ้นจากปกติได้

2. ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว P.acnes 
      2.1 ยาปฏิชีวนะ(Antibiotics) มีใช้หลายตัว อาจอยู่ในรูปโลชั่น ครีม หรือยารับประทานที่ใช้ในการกำจัดเชื้อสิว P.acne ที่ใช้กันบ่อยได้แก่
2.1 Tetracycline มักให้ในรูปรับประทาน วันละ 2-4 แคบซูล
2.2 Doxycycline ยานี้มักจะนิยมใช้ เพราะราคาไม่แพง และได้ผลดี มักให้ในรูปรับประทาน วันละ1-2 แคบซูล
2.3 Minocycline ยานี้ราคาแพง และได้ผลดี สะดวกเพราะ รับประทาน วันละ 1 แคบซูล
2.4 Erythromycin-มีทั้งในรูปของครีมทาสิว และยารับประทาน วันละ2-4 คบซูล
2.5 Clindamycin-มีทั้งในรูปของครีมทาสิว และยารับประทาน วันละ1-2 แคบซูล
2.6 Co-trimoxazole-มักให้ในรูปรับประทานวันละ 2-4 เม็ด มักใช้รักษาสิวที่เกิดจากพวกแกรมลบ หรือ แบคทีเรียพวกไม่ใช้ออกซิเจน
ข้อควรระวัง
– ถ้าทานไม่ครบตามกำหนด มีโอกาสดื้อยาได้
– อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาการท้องร่วง
– มีอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก รวมทั้งอาจเกิดแผล มีอาการคัน หรือมีตกขาว
– มีโอกาสแพ้ยาได้

Posted on

ครีมกันแดด เลือกแบบไหน ใช้อย่างไร ถึงจะได้ผลในการป้องกันรังสียูวี ใครควรใช้

ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์ได้พิสูจน์และวิจัยแล้วว่า แสงแดดเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างต่อผิวหน้า เช่น ทำให้เกิดฝ้า กระ รอยหมองคล้ำ มะเร็งผิวหนัง ริ้วรอยแก่ก่อนวัย ฯลฯ จึงเห็นว่า การใช้ครีมกันแดดทุกวัน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย แพทย์บางท่านแนะนำให้เด็กอายุ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ทาครีมกันแดด โดยให้ผู้ปกครองทาให้ เพื่อสร้างนิสัยการทาครีมกันแดด

ประสิทธิภาพของครีมกันแดด แต่ละยี่ห้อ มีหลักการพิจารณาในการเลือกซื้อคือ ต้องดูที่ค่า SPF=Sun Protective Factor ซึ่งหมายถึง ค่าที่ใช้วัดในการกันแดด ว่าเป็นกี่เท่าของผิวที่ไม่ได้ทากันแดด ในเวลาและบริเวณเดียวกัน โดยมีวิธีคิดดังนี้ SPF=MED บริเวณที่ทายากันแดด/MED บริเวณที่ไม่ได้ทากันแดด โดยค่า MED ย่อมาจาก ปริมาณแสงที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดรอยแดงที่ผิวหนัง( Minimum Erythematous dose)

ควรใช้ครีมกันแดดที่ค่า SPF เท่าใด ได้มีการทดลองด้วยค่าต่างๆ กันเทียบกับการดูดซับแสงดังนี้

SPF
ค่าดูดซับแสง UVB(%)
2
50
4
75
8
87.5
15
93.3
20
95
30
96.7
45
97.8
50
98

จะเห็นได้ว่า ค่า SPF ระหว่าง 15-45 จะให้คุณสมบัติในการดูดซับแสงได้ใกล้เคียงกัน และ ค่า SPF ระหว่าง 30-45 แทบไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการดูดซับรังสีUVB ดังนั้น แพทย์นิยมให้คนไข้ ใช้ครีมกันแดด ที่มี SPF สูงกรณีที่ต้องตากแดดนานติดต่อกัน และใช้ครีมกันแดด SPF ต่ำ กรณีที่ตากแดดเป็นครั้งคราว เพราะ ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ยิ่งสูง ก็จะมีความมันมาก และราคาสูง ตามความเห็นของผู้เขียนมเห็นว่า ครีมกันแดดที่ควรเลือก สำหรับผิวคนไทย น่าจะมีค่า SPF=15 กรณีผิวมัน และ SPF= 30 กรณีที่ผิวธรรมดา และผิวแห้ง

รูปแบบของสารกันแดด ที่หลายแบบ แต่แนะนำให้ใช้ ในรูปของครีมหรือโลชั่น เพราะมีประสิทธิภาพดี ค่า SPF สูง เพราะในรูปอื่น เช่น Oils ( มักจะมันมาก ราคาแพง) Gel ( ไม่มัน รู้สึกดี แต่ผลิตยาก ไม่คงตัว SPF ต่ำเกินไป) สเปรย์ มักมีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ

ข้อแนะนำในการใช้ครีมกันแดดทั่วไป

  1. ควรทาครีมกันแดดทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 9.00-16.00 น. โดยทาก่อนออกแดด 15-30 นาที
  2. ควรทาหนาพอควร สำหรับใบหน้า หู คอ และหลังมือ จะใช้ประมาณ 2-3 กรัม
  3. ทากันแดดซ้ำ หลังว่ายน้ำ หรือเหงื่อออกมากๆ
  4. หลีกเลี่ยงการทารอบดวงตา เพราะอาจระคายเคืองได้ง่าย
  5. บริเวณจมูก และร่องแก้ม โหนกแก้ม ควรทาครีมกันแดดให้มาก เพราะกระทบแสงแดดโดยตรง และเป็นตำแหน่งที่เกิดปัญหาฝ้าได้บ่อย
  6. บริเวณริมฝีปาก อาจทากันแดด ที่อยู่ในรูปของลิปติก หรือผสม Wax
  7. ในคนที่ผมบาง ควรทาครีมกันแดด ที่หนังศีรษะด้วย
  8. ถ้าเป็นไปได้ ควรสวมหมวก ใส่เสื้อผ้าปกคลุม กรณีตากแดดจัด และเป็นเวลานานๆ
  9. กรณีที่มีปัญหา ผิวแพ้ง่าย หรือ เป็นสิว อาจงดครีมกันแดด ไว้ก่อน โดยป้องกันด้วยวิธีอื่นไปก่อน แล้วปรึกษาแพทย์เพื่อการเลือกใช้ที่เหมาะสม

เคล็ดลับการทาครีมกันแดดหน้าร้อน

  1. ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 สำหรับผิวมัน และ SPF มากกว่า 30 สำหรับผิวแห้ง สำหรับป้องกันรังสียูวีบี และเลือกค่า PA ++ เป็นอย่างน้อยสำหรับป้องกันรังสียูวีเอ และควรเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก และเลือกครีมบำรุงที่มีสารปกป้องแสงแดด
  2. ครีมกันแดดที่เลือกใช้ ควรดูข้างขวดว่า สามารถปกป้องได้ทั้ง UVA,UVB เพราะยูวีเอ จะทำให้ผิวหนังแห้ง และเหี่ยวย่นได้ ส่วนยูวีบี จะทำให้ผิวหน้าแดง หมองคล้ำ และใหม้เกรียม
  3. สารกันแดดที่เลือกใช้ ถ้าเลือกแบบที่สะท้อนแสงแดด ( physical sunscreens) เช่น Zinc oxide,Titanium จะได้ผลดีกว่าแบบ ดูดซับแสงไว้ที่ผิว( chemical sunscreen) แต่ก็ไม่เหมาะกับคนผิวคล้ำ เพราะจะทำให้ผิวหน้าขาวเกินไป
  4. ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน อย่ารีรอไปทาข้างนอกบ้าน หรือบนชายหาด เพราะกว่าจะทาเสร็จเรียบร้อย ผิวอาจได้รับแสงแดดมากพอที่จะทำลายผิว
  5. ใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากพอควร คือ ประมาณ 2 ข้อมือสำหรับผิวหน้า และใช้ครีมกันแดดที่มีปริมาณอย่างน้อยประมาณ 30 กรัม สำหรับทาทั่วผิวกาย อย่าถูแรงเกินไป อาจทำให้ครีมหลุดลอก ไม่สามารถป้องกันแดดได้เต็มที่ นอกจากนี้ควรทาครีมกันแดด ห่างกันทุก 2 ซม. ถ้าทิ้งช่วงทานานกว่านี้ อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงได้ ถ้าเหงื่อออก หรือโดนน้ำสาดช่วงสงกรานต์ ควรทาครีมกันแดดซ้ำได้ทันทีที่ผิวแห้งลง หรือเลิกเล่นสาดน้ำช่วงสงกรานต์
  6. การพักผ่อนตามชายทะเล การเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในหน้าร้อน ควรทาครีมเพิ่มเติมทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพราะแสงแดดจะทำลายคุณสมบัติของครีมตลอดเวลา จึงต้องเติมเพิ่มเติม แต่ยังไงพกหมวก ร่ม แว่นกันแดด ไปด้วย
  7. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด คือ เวลาระหว่าง 10.00-15.00 น. หรือสวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก หรือกางร่มเมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
  8. หากต้องการเปลี่ยนสีผิวให้เป็นสีแทน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดดและวิตามินอี
  9. นอกจากนี้ควรลดอัตราเสี่ยงอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า และมลภาวะต่างๆ เพราะจะทำให้แสงแดดทำลายผิวพรรณได้ง่ายขึ้น
  10. สำหรับบางท่านที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ จะทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ดังนั้นควรทาครีมกันแดดที่ SPF > 30 จะปกป้องผิวได้ดีกว่า


Posted on

สิวอักเสบ (Inflammatory acne ) เจ็บสิว เรื่องสิวที่อาจจะเกิดปัญหาผิวที่แก้ยาก

สิวอักเสบ (Inflammatory acne ) คืออะไร

 คือการที่สิวอุดตัน ที่ได้รับการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Propionibacterium acne( P.acne) แล้วแบคทีเรียนี้ ปล่อยเอนไซม์ที่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ โดยมีความรุนแรงแตกต่างกัน แล้วแต่จำนวนเชื้อ และขนาดของสิวที่อุดตัน แล้วมีการเรียกชื่อแตกต่างกัน บางคนอาจแบ่งเป็นประเภทตามลักษณะของสิวอักเสบดังนี้
ประเภทของสิวอักเสบ แบ่งได้เป็น
1.สิวนูนแดง (Papule)- มักไม่เกิดแผลเป็นเมื่อหาย
2.สิวหัวหนอง ( Pustule)-มักไม่เกิดแผลเป็นเมื่อหาย
3.สิวหัวช้าง (acne conglobata)-มักเกิดแผลเป็นเมื่อหาย
4.สิวซีสต์ (acne cyst) -มักเกิดแผลเป็น เมื่อหาย
5.สิวตุ่มนูนหนอง(Papulopustular acne )-มักเกิดแผลเป็นเมื่อหาย
ผลข้างเคียงจากการเกิดสิวอักเสบ มักเกิดได้บ่อย ถ้าไม่รีบรักษา คือ
1. รอยดำจากสิว
2. รอยแดงช้ำ ซึ่งอยู่ได้นาน เป็นเดือนๆ
3. รอยหลุมจากสิว เกิดได้ในสิวหัวช้าง สิวซีสต์ หรือสิวตุ่มนูนหนอง รอยหลุมเกิดแล้วมักจะรุนแรง ทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียน ไม่ได้ 100%

การรักษาสิวอักเสบแบบใช้ยา

1. ยาทาสิว ที่ใช้กันบ่อยๆ ก็คือ
1.1 Benzoyl peroxide – เป็นตัวยาที่ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย P.acne และลดการอักเสบได้ดี 50-70 % ของสิวอักเสบ โดยมักใช้ทาทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออก เนื่องจากมีการระคายเคือง
1.2 Azeleic aicd – มักใช้ในรูปยาทา 20 % Azeleic acid( Skinoren) มักใช้ในระยะแรก แต่อาจระคายเคืองได้
2. ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อสิว มีใช้หลายตัว ได้แก่ Tetracycline ,Doxycycline ,Minocycline ,Erythromycin,Clindamycin,Co-trimoxazole
3. ยาคุมกำเนิด เช่น Dian-21 มักใช้เฉพาะในผู้หญิง เพื่อควบคุมการเกิดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนเพศ ไม่แนะนำในผู้ชาย เพราะมีผลข้างเคียง ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลงได้ และทำให้นมโต ที่เรียกว่า ภาวะ Gynecomastia
4. ยารับประทานต้านฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน คือ spironolactone ปัจจุบันไม่นิยมใช้ เพราะมีผลข้างเคียงคล้ายยาคุมกำเนิด
5. ยากลุ่มวิตามินเอ ( Retinoids ) เช่น Roaccutane,Isotane,Acnotin เป็นยาแรง มักจะใช้เป็นด่านสุดท้าย ยาค่อนข้างมีราคาแพง มีผลข้างเคียงต่อตับ และระดับไขมันในเลือด ที่สำคัญห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
6. การฉีดสิว ทำให้สิวหายได้เร็ว ควรกระทำโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากอาจเกิดรอยหลุมจากผลของยาได้

การรักษาสิวอักเสบแบบไม่ใช้ยา เพราะกลัวผลข้างเคียงจากยา

1. มาสค์หน้ารักษาสิว : ส่วนใหญ่จะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสมุนไพร หรือ ยีสต์บางชนิดทีสรรพคุณฆ่าเชื้อสิวได้ แต่การมาสค์หน้ารักษาสิว จะได้ผลดีระดับหนึ่ง เฉพาะสิวหัวแดง(Papule) กับ สิวหัวหนอง ( Pustule) ส่วนสิวอักเสบที่รุนแรงมักจะไม่ได้ผล และบางทีก็เสี่ยงกับการแพ้สารสกัดหรือสมุนไพรบางอย่าง
2. การรักษาสิวอักเสบด้วยคลื่นแสง พบว่าแสงสีน้ำเงิน ความยาวช่วงคลื่นที่ 407-420 nm. สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิวได้ ( P.acnes) ไม่แพ้กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โดยได้รับการยอมรับจาก FDA ของอเมริกา ว่ารักษาได้ผลประมาณ 55-60%
3.เลเซอร์รักษาสิวอักเสบ: ปัจจุบันเลเซอร์รักษาสิว ที่นิยมใช้กันในคลินิกรักษาสิว ก็คือ V-Beam Laser เพราะแก้ปัญหาสิวอักเสบได้ทุกชนิด และยังรักษารอยแดง รอยดำจากสิว ทำให้ผิวหน้าเนียนในคราวเดียว การรักษาสิวด้วยเลเซอร์ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชียวชาญโดยเฉพาะ จึงจะได้ผลดี และไม่มีผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์

Posted on 2 Comments

สิวอุดตัน (Comedone) ล้างหน้ามีสะดุด อยากหยุดปัญหานี้ มีวิธีใด รักษาให้หายขาดได้

สิวอุดตัน (Comedone) คืออะไร

สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวขนาดเล็กที่มีไขมันจับเป็นตุ่มเล็กๆ ในท่อไขมัน ใต้ผิวหนัง เป็นสิวชนิดที่ไม่เกิดการอักเสบ พบได้มากกว่า 70 %ของปัญหาสิว ทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว
ตำแหน่งทีพบได้ เกิดได้บ่อยบริเวณใบหน้า ลำคอ และลำตัว(โดยเฉพาะที่หลัง) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมัน Sebaceous gland จำนวนมาก
สาเหตุการเกิดสิวอุดตัน : เกิดจากการระบายไขมันไปยังผิวชั้นนอกอุดตัน ซึ่งอาจจะเกิดได้จากปัจจัยต่างๆ ด้ังนี้
1. สร้างไขมันมากเกินไป จากปัญหาฮอร์โมนเพศชายสูง แล้วระบายออกไม่ทัน ไขมันจึงจับตัวเป็นก้อน
2. ท่อไขมันผิดปกติ : ความผิดปกติของการลอกผิวในท่อขุมขนเอง หรือเกิดการอักเสบเรื้อรัง จากการไปกดสิว บีบสิว ทำให้ไขมันระบายออกไม่ดี เกิดการอุดตัน
3. แพ้ครื่องสำอางบางชนิด แล้วเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง
4. การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสเกิดสิวอุดตันได้มากขึ้น

ชนิดของสิวอุดตัน

สิวอุดตันมีหลายชนิดด้วยกัน ที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. สิวหัวดำ (Open comedone )เป็นจุดสีดำปรากฏบนผิวหนัง เกิดจากการอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน สารเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีที่เซลล์ผิวหนังจะทำปฏิกิริยากับสารที่อุดตันให้เปลี่ยนเป็นสีดำ ในขณะที่สารเหล่านั้นโผล่พ้นขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจน
2. สิวหัวขาว(Closed come done ) สีขาวบนผิวหนัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน แต่รูขุมขนที่อุดตันนั้นจะไม่ได้สัมผัสอากาศ จึงไม่มีการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน และยังคงมองเห็นเป็นจุดสีขาวที่อุดตันอยู่บนผิวหนัง
3. สิวจากสเตียรอยด์ ( Steroids acne) หรือยาบางชนิด อาหารเสริมที่มีฮอรโมนเพศฃายผสม เช่น อาหารสำหรับนักเพาะกาย
ผลข้างเคียงจากการเกิดสิวอุดตัน มักเกิดจากการพยายามแกะ แคะ บีบเพื่อให้สิวอุดตันหลุด และขาดความชำนาญในการกดสิว มักพบได้บ่อยคือ
1.รอยดำสิว
2.รอยหลุมสิว
3.สิวอุดตันเรื้อรัง เนื่องจากการกดหรือบีบ แล้วทำให้ท่อไขมันเกิดการอักเสบ มีพังผืด การระบายไขมันไม่ดี

การรักษาสิวอุดตัน

1. ครีมทาละลายสิวอุดตัน กลุ่ม Tretinoin (เช่น Retin-A,Tretinoin,Diffein ) กรดอะซีลาอิค (Azelaic Acid)กรดไกลโคลิค (Glycolic Acid)
2. การกดสิว มักจะทำได้เฉพาะกลุ่มสิวหัวดำ เพราะจะหลุดออกได้ง่าย และควรทำโดยผู้ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นภายหลัง หรือถ้าจะกดเอง ควรจะเลือกใช้เครื่องมือกดสิว ส่วนสิวหัวขาว ไม่แนะนำให้กด ควรจะเจาะออกด้วยเข็มหรือเลเซอร์
3.การทำ Peeling ด้วย 30-50% TCA จะช่วยทำให้ผิวหน้าแห้งลง ผนังสิวบางลง ทำให้สิวอุดตันฝ่อตัว และหลุดออกได้ง่าย
4. เลเซอร์ ชนิด Finescan 1550,Fraxel Refine กลุ่มนี้สามารถรักษาสิวอุดตัน ได้ทุกชนิดทั้งสิวหัวดำ สิวหัวขาว รวมถึงสิวอุดตันเรื้อรัง โดยลำแสงเลเซอร์จะยิงไปรักษาท่อไขมันที่ผิดปกติ ซึ่งพบเป็นสาเหตุบ่อยสุด ที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน วิธีนี้ เท่านั้น ทำให้สิวอุดตันหายขาดได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดหน้ามัน กระชับรุขุมขน และรักษาแผลเป็นรอยดำ รอยหลุมสิวได้ด้วยในคราวเดียว