โรคอ้วน ( Obesity) : อ้วนไม่อ้วน ดูที่ตรงไหน ทำไมถึงอ้วนง่าย ไม่อยากอ้วนทำอย่างไร

ลดน้ำหนัก

6 กันยายน 2005


อ้วนมั้ย ดูที่ BMI

หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าจะเข้าข่ายของโรคอ้วนหรือไม่ แพทย์จะคิดคำนวณจากค่า ดัชนีความหนาของร่างกาย (Body mass index=BMI) ดังนี้ เราสามารถจะคำนวณค่า BMI ได้ด้วยตัวของเราเอง โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้
BMI = น้ำหนัก(กิโล) / ส่วนสูง(เมตร)ยกกำลังสอง เมื่อได้ตัวเลขแล้ว จะนำมาประเมินภาวะอ้วนผอมได้ดังนี้

20.0-24.9 บ่งว่า BMI มีค่าปกติ
18.5-19.9 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะผอมระดับ 1
17.0-18.4 บ่งว่า BMI อยู่ในผอมระดับ 2
16.0-16.9 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะผอมระดับ 3
< 16 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะผอมระดับ 4
25.0-29.9 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะอ้วนระดับ 1
30.0-39.9 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะอ้วนระดับ 2
> 40 บ่งว่า BMI อยู่ในภาวะอ้วนระดับ 3

ทำไมคนเราจึงอ้วนมากและง่ายขึ้นในปัจจุบัน : เกิดได้จากหลักการใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ปัจจุบันมีอาหารแปลกใหม่ รสชาดน่าลิ้มลองมากขึ้นกว่าในอดีต มีการเช็คอิน ร้านอาหารน่านั่ง หลายร้าน ทำให้มีการรับประทานมากขึ้น
  2. มีการใช้พลังงานที่ได้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เผาผลาญพลังงานลดลง เพราะมีความอำนวยความสะดวกขึ้น มีเครื่องจักรกลช่วยทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน การมีรถยนต์ หรือมีการดูโทรทัศน์มากขึ้น แทนที่จะใช้เวลาในการออกกำลังกาย และอีกเหตุผลก็คือ ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้คนเราต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาว่างในการคิดถึงสุขภาพตนเอง

ปัจจัยของการลดน้ำหนักได้ยาก : พอจะกล่าวได้เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. สาเหตุของกรรมพันธุ์ ทำให้อ้วนง่ายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลของยีนที่ได้รับจากพ่อแม่
  2. การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เมื่อลดน้ำหนักได้แล้ว กลับมาอ้วนได้ใหม่และง่ายขึ่น คือ เมื่อน้ำหนักลดลง ทำให้อัตราการเผาผลาญลดลง สาร leptin ในร่างกายที่เป็นตัวทำให้อิ่มก็ลดลงไปด้วย จึงทำให้หิวได้ง่ายขึ้น รับประทานมากขึ้น ซึ่งพบได้ในคนที่เคยลดน้ำหนักบ่อยๆ แล้วในระยะหลังจะลดได้ยากขึ้น
  3. มีความรู้สึกท้อแท้ เมื่อตั้งความหวังไว้สูงมากๆ ว่าจะลดได้มากๆ เมื่อทำไม่ได้ จึงหมดความพยายาม
  4. ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เครียดหงุดหงิด จึงหาทางออกด้วยการกินๆๆๆๆๆๆ โดยไม่ได้มีเวลาออกกำลังกาย

แนวทางในการปฏิบัติตนเมื่อเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก :

  1. ต้องทราบว่าเมื่อคนเราอายุมากขึ้น น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยทุก 0.5-1 กิโลกรัมต่อปี เมื่ออายุมากกว่า 25 ปี แม้จะรับประทานอาหาร ในปริมาณเท่าเดิมและออกกำลังมากขึ้น ดังนั้นจะต้องลดปริมาณอาหารและออกกำลังกายมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น
  2. การออกกำลังกายโดยการวิ่ง หรือเดินระยะทางนานๆ ถึอว่าเป็นการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด และผลข้างเคียงน้อยที่สุดในปัจจุบัน
  3. ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ ด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ไม่แนะนำให้รับประทานยาลดน้ำหนักไปเรื่อยๆ แบบไม่สิ้นสุด เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำหนัก ประเภทกระตุ้นให้อิ่มเร็วขึ้น เพราะเมื่อหยุดยา มีโอกาสเกิดโยโย่ได้ง่ายมาก
  5. รับประทานอาหารเสริมในสัดส่วนที่พอเหมาะ การลดน้ำหนักด้วยยารับประทานนานๆ ทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่และวิตามินที่สำคัญ

Related