ชายวัยทอง (Andropause ): ภาวะพร่องฮอร์โมน ที่ทำให้ความเป็นชายลดลง แก้ไขอย่างไร?

เวชศาสตร์ชะลอวัย

20 มีนาคม 2009


ชายวัยทอง (Andropauase) คืออะไร
 เดิมเรามีความเชื่อกันว่า ผู้ชายจะคงความเป็นชายหรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายไปตลอดชีวิต ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วรังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง จึงเรียกว่าวัยหมดประจำเดือน
แต่ความรู้ใหม่ พบว่าไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ต่างก็ต้องก้าวเข้าสู่วัยทองกันทั้งนั้น โดยมีการวิจัยทางการแพทย์จากหลายๆ ประเทศพบว่า ชายทุกคน เมื่ออายุย่างเข้าวัย 40 ปีขึ้นไป การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะลดลงอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงปีละประมาณร้อยละ 1 และเมื่ออายุ 65 ปีจะมีระดับฮอร์โมนนี้ลดลงกว่าช่วงวัยรุ่นถึงร้อยละ 25 เมื่อระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลงถึงระดับหนึ่งจะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายไปบางส่วน ทำให้เกิดอาการต่างๆคล้ายกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

อาการ ! ที่บ่งบอกถึง ” ภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชาย “
– เครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย บางครั้งอาจจะรู้สึกซึมเศร้า อยากอยู่คนเดียว ไม่ชอบพบปะผู้คนหรือเข้าสังคม
– เหงื่อออกมาก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับก็หลับไม่สนิท
– โครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูกต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย (แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนผู้หญิง) กล้ามเนื้อเริ่มมีขนาดเล็กลง ไม่กระชับ มีการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อ โดยจะสังเกตได้ชัดที่กล้ามเนื้อต้นแขน
– สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งเรื่องนี้แหละที่ผู้ชายส่วนใหญ่วิตกกังวลกันมากเป็นพิเศษ
– การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชายวัยทองที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การเผาผลาญไขมันจะลดลง จึงทำให้มีไขมันส่วนเกินได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง
– กำลังวังชา เริ่มถดถอย มีอาการเหนื่อยง่าย เมื่อต้องออกแรงหรือทำงานหนัก
– ผิวหนัง เริ่มหย่อนคล้อย ริ้วรอยมากขึ้น ริมฝีปากบาง และผมบางมากขึ้น
– มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกลำบาก

Andropauase

ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติ
นอกจากอายุซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ปัจจุบันยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ นั่นคือ

– เรื่องของกรรมพันธุ์
– การทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย
– มีความเครียดตลอดเวลา
– ความอ้วน
– การขาดสารอาหารบางชนิด (เช่น แร่ธาตุสังกะสี เบต้าแคโรทีน)
– การดื่มเหล้า สูบบุหรี่
– มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตวาย ฯลฯ)
– การกินยาบางชนิด (เช่น ยารักษาไทรอยด์)
– การออกกำลังกายที่มากเกินไป เป็นต้น
– สรุปได้ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว จะทำให้มีการหมดฮอร์โมนเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัย
เนื่องจากมีความแตกต่างของการขาดฮอร์โมนเพศในชายและหญิงวัยทอง คือ ในผู้ชายวัยทองฮอร์โมนเพศจะค่อยๆ ลดลง และไม่ได้ขึ้นกับอายุ อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันผู้ชายแต่ละคน บางคนอาจจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุน้อยๆ (น้อยกว่า 40 ปี ) แต่ผู้ชายที่มีอายุ 80 ปีบางคนก็ยังมีฮอร์โมนเพศและสุขภาพยังดีอยู่ก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
1. อาศัยอาการ ด้วยการประเมินอาการ 3 ด้าน คือ ด้านร่างกายและระบบไหลเวียน ด้านจิตใจ และด้านเพศ โดยอาศัยแบบสอบถาม ซึ่งช่วยในการคัดกรอง และใช้ในการติดตามผล
2. จากการตรวจเลือด เพื่อหา
2.1 ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน แบบรวม(Total testosterone )
2.2 Sex Hormone Binding Globulin(SHBG) ในช่วงเวลา 6.00-8.00 น. และควรงดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชม. (อาจจะดื่มน้ำได้บ้างตอนเช้า) จึงจะได้ค่าที่ถูกต้องและใกล้เคียงความจริง
แล้วนำผลเลือดทั้งสองมาคำนวณให้ได้ค่าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนอิสระ (Free Testosterone) ซึ่งมีความแม่นยำกว่าการตรวจ เทสทอสเตอโรนรวม แล้วนำผลมาพิจารณาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน
แต่จริงๆ แล้วชายวัยทอง ไม่มีตัวเลขระดับฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนที่แน่นอนว่าเท่าไหร่ จึงจะเรียกว่าภาวะพร่องฮอร์โมน ดังนั้นแนวความคิดใหม่ของแพทย์ ด้าน Anti-Aging จึงมักจะแนะนำให้ผู้ชายทุกคน ควรตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายในช่วงที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ และตรวจติดตามทุก 10 ปี ว่ามีแนวโน้มการลดลงของฮอร์โมนเพศชายหรือไม่ หรือเมื่อเริ่มมีอาการทางกาย อารมณ์ และเรื่องทางเพศ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ แพทย์ ด้าน Anti-Aging อาจจะมีการตรวจระดับฮอร์โมนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น FSH,LH,Estradiol,DHEA,Growth hormone(IGF-1) ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

consultation
blood test

จะดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเข้าสู่อาการชายวัยทอง
ถึงแม้มนุษย์จะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยได้ แต่ก็พอมีวิธีที่จะยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่ม ให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติเอง นั่นคือ
1. อาหาร: นอกจากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ชายวัยทองควรจะเน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดดีในปริมาณที่สูง เช่น ปลา สัตว์ปีก พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เป็นต้น และควรจะรับประทานแคลเซียม ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก ชายวัยทองควรจะได้รับแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรจะควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือด โดยงดรับประทานอาหารที่มีโคลเลสเตอรอลสูง เช่น หอยนางรม ไข่แดง ควรงดของที่มีรสหวาน ชา กาแฟ อัลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลงได้
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ เป็นต้น
3. การบริหารสุขภาพจิต: เพื่อลดความเครียดจากอาการทางกาย เช่น การไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การมีสังคมกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว
4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง: ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจหามะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density

5 การให้ฮอร์โมนทดแทน (Testosterone Replacement Therapy) :
 การใช้ฮอร็โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวันทองนั้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่พอจะป้องกันได้ และประวิงเวลาของโรคที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อดีของการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวัยทองให้เข้าสู่ระดับปกติ โดยไม่สูงเกินไป จะมีประโยชน์เพื่อลดปัญหาที่เกิดในชายวัยทองดังได้กล่าวมาข้างต้น โดยปัจจุบันมีการให้การให้ฮอร์โมนทดแทนชายวัยทอง ในหลายรูปแบบ เช่น
แบบรับประทาน : พบว่าเดิมมีการใช้การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบรับประทาน แต่พบว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ ถ้าทานติดต่อกันนานๆ เพราะตัวยารับประทานอาจจะผ่านตับได้
กรณีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเพศชายแบบทานติดต่อกันนานๆ  แนะนำให้ตรวจระดับฮอร์โมน ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) และตรวจเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรจะซื้อยามารับประทานเอง
แบบฉีด : เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีระดับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ต่ำมากๆ หรือผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) โดยจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายได้เร็วกว่าแบบอื่นๆ และสะดวกในการใช้ เพราะฉีด 1-3 เดือนต่อครั้ง แต่บางครั้งก็พบว่า ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงได้เร็วเช่นกัน และพบว่ามีรายงานว่า การเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายอย่างรวดเร็ว จะทำให้ฮอร์โมนเพศชายบางส่วน เปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen) โดยผ่านกระบวนการ Aromatase Activites จึงมักจะมีการเสริมการให้สังกะสี ควบคู่ไปด้วย เพื่อรบกวนการทำงานของเอนไซม์ Aromatase กรณีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเพศชายแบบฉีด แนะนำให้ตรวจระดับฮอร์โมน ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) และตรวจเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก(PSA) เป็นระยะๆ หรือตามแพทย์สั่งอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับแบบรับประทาน
แบบทา (Transdermal Testosterone): จัดเป็นฮอร์โมนทดแทนเพศชาย ที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงมาก โดยระดับฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และไม่เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen) โดยผ่านกระบวนการ Aromatase Activites ) และไม่ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งตับหรือต่อมลูกหมากมากขึ้น
แบบเหน็บ หรือฝังใต้ผิวหนัง : จัดเป็นฮอร์โมนทดแทนเพศชาย ที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงดังสองแบบแรก เช่นกัน และได้ผลใกล้เคียงกับแบบทา สะดวกที่ไม่ต้องทาทุกวัน แต่ไม่สะดวกสำหรับบางคน เพราะมักจะฝังไว้ที่บั้นท้าย เป็นที่นิยมในแถบยุโรป แต่ในเอเซีย ยังนิยมแบบทาและรับประทานมากกว่า

testosterone injection
testosterone gel

ข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน

  1. เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือว่าสงสัยจะเป็น
  2. เป็นมะเร็งเต้านม หรือสงสัยว่าจะเป็น
  3. ต่อมลูกหมากโตทีมีอาการอุดตันการปัสสาวะที่รุนแรง
  4. มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป
  5. มีการหยุดหายใจขณะหลับ
  6. หัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง
  7. ต่อมลูกหมากโตอย่างรุนแรง จนมีอาการของการอุดตันทางเดินปัสสาวะ
  8. แพ้ฮอร์โมนเพศชาย

การติดตามชายวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน

 ควรมีการตรวจระดับฮอร์โมนเริ่มต้นไว้ก่อน ที่จะให้ฮอร์โมนทดแทน และการตรวจซ้ำเมื่อครบทุก 3 เดือน หรือทุกปี แล้วแต่แพทย์จะนัดติดตามผล นอกจากการตรวจฮอร์โมนเพศเพื่อการวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมน แล้วควรตรวจ

  1. การตรวจเพื่อคัดกรองหาโรคในผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ดัชนีมวลกาย สัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก ความดันโลหิตสูง ความเข้มข้นของเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ ถ้าหากไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายก็อาจจะตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มเติม
  2. ประเมินพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของชุมชน
  3. ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรได้รับการตรวจ ความเข้มข้นของเลือด และ PSA (เพื่อคัดกรองหามะเร็งของต่อมลูกหมาก) ทุก 3 เดือน

Related