หญิงวัยทอง (Menopause ) : ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ ที่ผู้หญิงไม่อยากให้เกิด

เวชศาสตร์ชะลอวัย

10 มีนาคม 2009


Sad mature woman on bed with her husband in the background

หญิงวัยทอง (Menopauase) คืออะไร 
หญิงวัยทอง เป็นช่วงต่อระหว่างวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและวัยสูงอายุ โดยในช่วงอายุ 40 หรือ 45 ปีขึ้นไป ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะมีการผลิตฮอร์โมนเพศลดลง โดยปกติ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง และมีช่วงเวลาที่ประจำเดือนเริ่มมาในเวลาที่ไม่แน่นอน ถี่บ้างห่างบ้างตามกระแสขึ้นลงของฮอร์โมนเพศ เราเรียกระยะนี้ว่า ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Premenopause)
จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มเข้าสู่วัยนี้แล้ว
สตรีเมื่ออายุมากว่า 40 ปีขึ้นไป ที่มีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะ 3 M คือ
1. Memory: ความจำเริ่มลดลง
2. Mood: อารมณ์ที่แปรปรวน
3. Muscles: กล้ามเนื้อไม่กระชับ
ควรจะสงสัยว่า เริ่มเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือนแล้ว หรือสตรีที่แม้ไม่มีอาการอะไรเลย แต่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันนาน 1 ปี ก็ถือว่า หมดประจำเดือนแน่นอน ในกรณีที่ต้องการทราบผลแน่ชัด
ตรวจสอบให้ชัดเจนได้อย่างไร
สามารถทราบได้โดยการเจาะเลือดหาระดับฮอร์โมน เอสโตรเจน โปรเจสเทอโรน ที่ผลิตที่รังไข่ และระดับฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งถ้าต่ำกว่าค่าปกติ ก็บ่งบอกว่าเริ่มเข้าสู่วัยทองแล้ว (Peri-menopausal syndrome)

อาการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยทอง
ท่านสามารถจะสังเกต ตนเองได้ว่ากำลังจะหมดประจำเดือนหรือยัง โดยเริ่มต้นจากอายุที่เข้าใกล้เลข 40 และจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้

  1. ประจำเดือนมาไม่แน่นอน บางทีมาถี่ๆแล้วทิ้งช่วงหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีอีก มีเลือดประจำเดือนออกแบบมากกว่าปกติหรือมาทุก 2-3 สัปดาห์
  2. อาการร้อนวูบวาบ (Hot Flash) ประมาณ 3 ใน 4 ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะเคยมีอาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้นบางครั้งมีอาการเหงื่อออกมากกว่าปกติทั้งที่อากาศเย็น หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืนหรือขณะหลับอยู่ อาการเหล่านี้มักเกิดบ่อยในช่วง 2-3 ปีแรกที่ประจำเดือนหมด โดยความรุนแรงจะไม่เท่ากันในผู้หญิงแต่ละคน
  3. มีอาการนอนไม่หลับหรือหลับยาก บางคนตื่นบ่อยๆ กลางดึกหรือตื่นเช้ากว่าปกติ
  4. มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย บางคนมีอาการเศร้าซึม
  5. ปัญหาของช่องคลอด ระดับเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้เนื้อเยื่อของช่องคลอดบางลง ความยืดหยุ่นและความหล่อลื่นลดลง ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาร่วมเพศ หรือมีอาการแสบ คัน
  6. ปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะ ระดับเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุท่อปัสสาวะบางลง และมีความแข็งแรงของกระเพาะปัสสาวะลดลง ผู้หญิงวัยทองมักมีอาการปัสสาวะแล้วแสบ กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้หรือไม่นาน ปัสสาวะเล็ดหรือราดเวลาไอจามหรือยกของหนัก
  7. ความเต่งตึงและชุ่มชื้นของผิวหนังลดลงเพราะร่างกายสร้างสารคอลลาเจนลดลง ผิวหนังแห้งง่าย มักมีอาการคัน ตามร่างกาย ริ้วรอยเริ่มลึกและเห็นเด่นชัดขึ้น ใบหน้าเริ่มหย่อนคล้อย มวลกล้ามเนื้อลดลง ไม่กระชับ
  8. การเจริญพันธุ์ลดลง เนื่องจากเวลาตกไข่ไม่แน่นอน แต่สามารถตั้งครรภ์ได้เสมอจนกว่าประจำเดือนจะหยุดมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

จะดูแลตนเองอย่างไรในวัยหมดประจำเดือน
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า วัยหมดประจำเดือนไม่ใช่วัยเริ่มต้นสู่วัยชรา สตรีวัยนี้ยังคงทำงานได้อย่างกระฉับ กระเฉง ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในที่ทำงาน และที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมดังที่เรียกขานวัยนี้ว่าวัยทอง ดังนั้น สตรีวัยทองควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากสื่อต่างๆ สิ่งพิมพ์ พูดคุยกับเพื่อน หรือปรึกษาแพทย์ทางนรีเวช และควรจะมีการปฏิบัติตัวดังนี้

  1. อาหาร: นอกจากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว สตรีวัยทองควรจะเน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดดีในปริมาณที่สูง เช่น ปลา สัตว์ปีก พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เป็นต้น และควรจะรับประทานแคลเซียม ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก สตรีวัยทองควรจะได้รับแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรจะควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือด โดยงดรับประทานอาหารที่มีโคลเลสเตอรอลสูง เช่น หอยนางรม ไข่แดง ควรงดของที่มีรสหวาน ชา กาแฟ อัลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลงได้ 
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ เป็นต้น
  3. การบริหารสุขภาพจิต: เพื่อลดความเครียดจากอาการทางกาย เช่น การไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การมีสังคมกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว
  4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง: ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density)
  5. ฮอร์โมนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าควรรับฮอร์โมนทดแทนหรือไม่

การให้ฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยทอง (Hormonal replacent therapy=HRT)
จะมีข้อบ่งชี้ในการให้ เมื่อได้ตรวจระดับฮอร์โมนเพศ แล้วพบว่ามีการพร่องของฮอร์โมน (Hormone Deficiency) เพื่อป้องกันและรักษาอาการดังต่อไปนี้
– ใช้เพื่อรักษาอาการร้อนวูบวาบ (hot flush) ตามร่างกาย ใบหน้า ลำคอ หน้าอก ร่วมกับการมีเหงื่อออกมาก
– ใช้เพื่อรักษาอาการทางระบบปัสสาวะ และระบบสืบพันธ์ เพราะสตรีวัยทอง มักจะมีปัญหาปัสสาวะแสบขัดบ่อยๆ มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดแห้ง ทำให้มีปัญหาเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรส
– ใช้เพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุน
– ใช้เพื่อป้องกันโรคเส้นเลือดอุดตันหัวใจ ความจำเสื่อม บำรุงผิวพรรณ

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีผลเสียหรือไม่
สมัยก่อน คนเรากลัวเรื่องการให้ฮอร์โมนทดแทนแล้วมีผลต่อมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก ซึ่งก็มีส่วนที่เกิดขึ้นได้ เพราะในสมัยก่อน การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน จะเป็นแบบรับประทาน(Premarin) ซึ่งมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้
– แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาการให้ฮอร์โมนทดแทนในรูปแบบของสารสกัดจากธรรมชาติ และได้เปลี่ยนเป็นรูปแบบของการครีมทาเฉพาะที่แทน (Transdermal forms) ซึ่งมีความปลอดภัยขึ้นมาก และแทบจะไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว แต่ยังไงก็ต้องปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ (Anti-aging Medicine) เพื่อปรับระดับของการให้ฮอร์โมนทดแทนที่เหมาะสม
– ขณะเดียวกันได้มีผลการวิจัยทางการแพทย์จากหลายๆ สถาบัน พบว่าอัตราการเสียชีวิตของสตรีในอเมริกา พบว่า ประมาณ 48% เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมเพียง 1.5% เมื่อสตรีวัยทองได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน พบว่าอัตราการตายจากโรคหัวใจ ลดลงถึง 40% แต่มีอัตราการเพิ่มของมะเร็งเต้านมเพียง 0.15% เท่านั้น จึงมีข้อสรุปว่า การให้ฮอร์โทนทดแทน (เอสโตรเจน) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน จะได้ผลดีมากกว่าผลเสีย
– นอกจากนี้ยังมีวิตามินและสารสกัดจากธรรมชาติหลายตัวที่ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดดี (good estrogen) เช่น กลุ่ม flax(ป่าน) seed extracts,Soy,กะหล่ำปลี ,วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 ,folic acid,Omega-3 fatty acid (Fish oils ) กลุ่มสมุนไพร เช่น ใบแปะก๊วย ใบขี้เหล็ก เป็นต้น

Related