ปวดประจำเดือน ( Dysmenorrhea) : มีกีแบบ แบบไหน ต้องหาสาเหตุ และรีบทำการรักษา

สุขภาพ-งานวิจัย

17 มิถุนายน 2004


อาการปวดประจำเดือน ( Dysmenorhea) ถือเป็นภาวะอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยพบได้ถึงร้อยละ 50 ของสตรีที่มีประจำเดือน แต่จะมากน้อยรุนแรงแตกต่างกันไป โดยมีการสำรวจพบว่า ร้อยละ 10 ของผู้หญิงที่มีปัญหาปวดประจำเดือน จะมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถจะทำงาน หรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ
สาเหตุของการปวดประจำเดือน ทางการแพทย์ได้จำแนกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
1. อาการปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ ( Primary Dysmenorhea) หมายถึงการปวดประจำเดือนแบบไม่พบโรค หรือพยาธิโรคที่เป็นอันตราย ใดๆ ในอุ้งเชิงกราน
ลักษณะประวัติ อาการที่น่าจะเป็นการปวดแบบนี้คือ
1.1 มักจะเริ่มมีอาการปวดภายหลังเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ไม่เกิน 1 ปี
1.2 มีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน และค่อยๆ ลดลง แต่หายไป ไม่เกิน 2-3 วัน
1.3 อาการปวดจะมีลักษณะปวดบีบเป็นพักๆ บริเวณท้องน้อย
1.4 การตรวจภายใน(กรณีที่ทำได้) จะไม่พบความผิดปกติอื่นๆ
2. อาการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ( Seconary Dysmenorhea) หมายถึงการปวดประจำเดือนแบบพบโรค หรือมีพยาธิโรคในอุ้งเชิงกราน เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endomethiosis), การอักเสบอุ้งเชิงกราน, เนื้องอกในมดลูกชนิด Submucus Myoma หรือชนิด Adenomyosis,ห่วงคุมกำเนิด,พังผืดในโพรงมดลูก,ปากมดลูกตีบตัน,ถุงน้ำรังไข่ ฯลฯ
ลักษณะประวัติ อาการที่น่าจะเป็นการปวดแบบนี้คือ
2.1 เริ่มมีอาการปวดภายหลังเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกมาแล้วหลายๆ ปี
2.2 อาการปวดรุนแรงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ
2.3 มีอาการปวดในรอบประจำเดือนที่ไม่ตกไข่ หรือในรอบที่ได้รับยาคุมกำเนิด
2.4 หลังจากให้ยารักษาแบบอาการปวดแบบปฐมภูมิแล้วไม่ดีขึ้น
แนวทางในการรักษาอาการปวดประจำเดือน
1. ยาแก้ปวด ได้แก่ กลุ่มยา Paracetamol
2. ยาแก้ปวดเกร็ง Antispasmodic ได้แก่ กลุ่มยา Buscopan
3. ยาแก้ปวดกลุ่ม Prostaglandin Synthetase inhibitor เช่น กลุ่มยา Ponstan
4. ยากลุ่มคุมกำเนิด
คำแนะนำ
การรักษาอาการปวดประจำเดือน ด้วยยาดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น จึงแนะนำให้พบนรีแพทย์ เพื่อตรวจภายใน และอุลตราซาวด์ หาสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้นสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือน จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงขึ้น และไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา แก้ปวดชนิดต่างๆ แล้ว

Related