กรดผลไม้ (Hydroxy Acid): สารสกัดบำรุงผิวหน้า ให้ขาวใส ไร้รอยด่างดำ มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร

ดูแลผิวพรรณ

30 กรกฎาคม 2005


กรดผลไม้( Hydroxy Acid) คืออะไร : สารประกอบที่มีฤทธิ์เป็นกรด โดยสกัดจากผลไม้ธรรมชาติ เช่น กรด ซิตริกจากมะนาว ส้ม และส้มโอ กรดมัลลิกจาก แอปเปิ้ล กรดไกลโคลิกจากอ้อย กรดแล็กติกจาก นมเปรี้ยว กรดทาร์ทาลิกจากมะขาม และไวน์
ประโยชน์ในการนำมาใช้
มาใช้ในการช่วยเพิ่มหรือเร่งอัตราการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นนอก เพื่อแก้ไขปัญหาผิวหน้าหยาบกร้าน รอยดำ ฝ้า ริ้วรอยเหี่ยวย่น หรือรอยหลุม โดยอาจจะผสมในครีม หรือเครื่องสำอางค์ หรือแพทย์ผิวหนังได้นำมาใช้ในการผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาผิวพรรณ ลดริ้วรอย รอยด่างดำ ฝ้า กระ รอยหลุม ฯลฯ
ประเภทของกรดผลไม้
1. AHA (Alpha-hydroxy acid): กรดผลไม้ชนิดแรก ที่นำมาใช้ในการรักษาปัญหาผิวพรรณ โดยมีความเข้มข้นแตกต่างกันในการใช้ประโยชน์ โดยมากในเคาน์เตอร์ความงาม จะพบเห็นแพร่หลาย ในส่วนประกอบของครีมบำรุง โดยมักจะผสมในความเข้มข้น ไม่เกิน 10 % การที่จะผสมให้ความเข้นข้นสูงกว่านี้ จะถือว่าเป็นยา
ดังนั้นจะพบได้เฉพาะในคลินิกผิวหนังเท่านั้น นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของ AHAs ยังขึ้นอยู่กับค่า pH (ความเป็นกรดด่าง) โดยถ้ายิ่ง pH ต่ำจะมีประสิทธิภาพดีกว่า pH สูงแต่ก็ระคายเคืองผิวหนังมากกว่า และไม่เหมาะที่จะใช้กับผิวแพ้ง่าย( sensitive skin)

2. BHA (Beta-hydroxy acid) เป็นกรดผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่ออกมาสู่ท้องตลาด ในเวลาไม่กี่ปีมานี้ BHAเป็น สารพวก organic aromatic compound (ซึ่งมี hydroxy group ที่ beta position (ขณะที่ AHA มีที่ alpha positions) ซึ่งสารตัวนี้ ทนต่อ ความร้อน ไม่เสื่อมง่ายเหมือน AHA สารตัวนี้ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ กรดซาลิกไซลิก (salicylic acid)
BHA ละลายในไขมันจึงซึมแทรกลงไปในรูขุมขนได้ดี ทำให้บางคนอนุมานว่าจะดีกว่า AHAs ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ต้องอยู่ที่ จุดประสงค์ในการใช้แก้ปัญหา
AHA จะเหมาะกับการทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกได้ดี หลังใช้ทำให้ผิวหน้าขาวขึ้น ริ้วรอยลดลง ผิวหน้านุ่มขึ้น
แต่ BHA จะเหมาะกับการรักษาผิวหน้าที่ลึกกว่า ใช้แก้ปัญหาการหลุดลอกของสิวอุดตัน สิวเสี้ยน และกระชับรูขุมขน เพราะ BHA สามารถลอกผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันมากได้ดีกว่า AHA โดยเฉพาะบริเวณปลายจมูก นอกจากนี้ พบว่า BHA ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียเกราะป้องกันของผิวหนัง ( Transepidermal water loss) จึงใช้ได้ในคนที่ผิวแพ้ง่าย
3. CHA (combined hydroxy acid) เป็นการผสมผสานของกรดผลไม้หลายชนิด แต่ไม่นิยมเพราะเตรียมยาก
4. PHA (Poly-hydroxy acid) จะเป็นกรดผลไม้ตัวล่าสุด PHA ผลิตขึ้นเพื่อจะมาแทนที่ AHA ในอนาคต โดยมีการปรับให้มีโมเลกุลใหญ่ ทำให้ดูดซึมเข้าไปในผิวหนังลดลง จึงไม่ระคายเคืองผิว และใช้ได้กับคนที่ผิวแพ้ง่าย โดยมีแนวโน้มในการใช้ลอกผิวหนังได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายเกราะป้องกันผิวพรรณ ดังนั้นPHA อาจจะเป็นของใหม่ ในศตวรรษนี้ ที่กล่าวถึงกันมาก
แต่ในปัจจุบันทั้ง AHA,BHA ก็ยังมีประโยชน์ต่อการรักษาทั้งสองตัว ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเลือกใช้ได้เหมาะสม

Related