Posted on

ผื่นแพ้สารสัมผัส( Contact dermatitis) : ผื่นคัน ที่เกิดจากการระคายเคือง เกิดได้อย่างไร

Contact dermatis คือ โรคผิวหนังอักเสบ จากการสัมผัสสารภายนอก แล้วก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบแบบ ตุ่มน้ำ ผื่นคัน พบได้บ่อยประมาณ 10 % ของผู้ป่วยผิวหนังทั้งหมด
ผื่นแพ้สัมผัส แบ่งได้ตามกลไกการเกิด ได้ 5 ชนิด คือ

  1. ผื่นภูมิแพ้จากสารสัมผัส ( Allergic contact dermatitis) เป็นผื่นสัมผัส ที่พบได้ในบางคน เช่น แพ้นิกเกิล แพ้ยางสน( ในรองเท้าแตะ) โดยใช้เวลาในการเกิดภูมิแพ้ โดยปฏิกริยาอิมมูนในร่างกาย แล้วเกิดสารภูมิแพ้( hapten)ตุ่มแดงเล็กๆ หรือ แตกเป็นสะเก็ด แล้วคัน
  2. ผื่นผิวหนังอักเสบ จากการระคายเคือง (irritant contact dermatits) โดยเกิดจากสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง เช่น สารจากแมงกระพรุนไฟ สารจากแมลง น้ำยาขัดห้องน้ำ น้ำกรด ด่าง แอมโมเนีย เป็นต้น
  3. ผื่นสัมผัส เนื่องจากพิษของสารร่วมกับแสงแดด ( Phototoxic contact dermatits) เกิดขึ้นจากสารที่สัมผัสกับผิวหนัง เมื่อถูกแสงแดด โมเลกุลของสารเปลี่ยนแปลงแล้วก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ยาทา coldtar, ยาบางอย่าง เช่น Sulfa,Tetracycline,nalidixic acid
  4. ผื่นสัมผัส เนืองจากการแพ้สารร่วมกับแสงแดด( Photoallergic contact dermatits) กลไกคล้าย ข้อ 1 แต่สารที่จะก่อให้เกิดภูมิแพ้ ( hapten) จะต้องถูกแปลงสภาพจากแสงแดดก่อน เช่น น้ำหอม ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันจันทร์ น้ำมันมะกรูด สบู่ หรือผงซักฟอก ที่มีส่วนประกอบของ trichorsalicylanidides
  5. ลมพิษจากสารสัมผัส ( contact urticaria) คือปฏิกริยาที่เกิดการแพ้รุนแรง จนเกิดตุ่มนูน เป็นปื้น คัน ชัดเจน

กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้จากสารสัมผัส คือ การกระตุ้นผ่านระบบภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ครั้งแรก จะทำปฎิกริยาในร่างกาย หลายๆ ขั้นตอน แล้วกลายเป็นสารภูมิแพ้สมบูรณ์( antigen) คงไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะเป็นศัพท์ทางอิมมูนวิทยา โดยใช้เวลาในการเกิด ประมาณ 4-7 วัน ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณทีสัมผัสกับสาร
ลักษณะอาการที่พบ คือ ผิวหนังจะอักเสบแบบ ตุ่มน้ำใส คัน ( acute eczema หรือ Subacute eczema) การซักประวัติโดยแพทย์ จะทำให้แยกออกได้ว่าจากสารก่อภูมิแพ้ภายในร่างกาย หรือจากสารสัมผัส ลักษณะบริเวณของผื่น การดำเนินโรค ลักษณะการทำงาน และสิ่งแวดล้อม
การทดสอบสารที่แพ้ การที่ต้องการจะทราบ ว่าร่างกายแพ้สารอะไรบ้าง มีการทดสอบ ด้วยวิธี Patch test คือ การเทของเหลวตัวอย่าง หยดใส่ฟิลเตอร์ แล้วนำมาแปะไว้ที่แผ่นหลัง แล้วทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง แล้วนำมาอ่านผลการทดสอบ โดยดูว่าบริเวณที่แปะด้วยสารใด ก่อให้เกิดผื่นขึ้นบ้าง จะใช้เป็นหลักฐานในการบ่งบอกสารใดบ้างที่แพ้
แนวทางการรักษา รักษาตามอาการและอาการแสดง เช่น การประคบเปียก เมื่อผื่นอยู่ในระยะกึ่งอักเสบกึ่งเรื้อรัง มีน้ำเหลืองไหล หรือ ผื่นแห้งคัน ก็ใช้ครีมทาสเตียรอยด์ โดยอาจให้รับประทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย หรือไม่ก็ได้
หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เป็นสิ่งที่สำคัญและควรใช้สิ่งทดแทน เช่น แพ้ต่างหูที่ผสมนิเกิล ก็เปลี่ยนไปใช้ต่างหูที่ทำจากทองแท้หรือแพลทินัมแทน

Posted on

มะเร็งผิวหนัง ( Skin Cancer ): ภัยมืด ที่เกิดจากการโดนแสงแดดจัด เป็นเวลานานๆ

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยในคนไทยเมื่อเทียบกับแถบยุโรป อาจเป็นเพราะว่าคนไทยมีผิวคล้ำกว่า และมีสารเมลานินป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet) จากแสงแดดได้ดีกว่า แต่ปัจจุบันพบโรคมะเร็วผิวหนังได้มากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยยนไป ค่านิยมที่เปลี่ยนไป เช่น เริ่มชอบอาบแดดนานๆ เหมือนคนทางตะวันตก ชอบผิวมีแทนหรือคล้ำ มากกว่าสีผิวปกติของตนเอง
ชนิดของมะเร็งผิวหนัง
1. Basal cell carcinoma ถือเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด พบมากในชนชาติยุโรปและอเมริกา ในแถบเอเซียก็พบได้บ่อยเช่นกัน โดยจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 40-79 ปี อาการที่เห็นได้ชัดคือจะมีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง มีลักษณะผิวเรียบมัน และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
2. Squamous cell carcinoma อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพู หรือแดง และด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุย หรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
3. Melanoma เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของมะเร็งชนิดนี้ เริ้มต้นจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวัน แต่จะโตเร็ว ขอบเขตไม่เรียบและอาจมีสีไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ที่บริเวณแผลอาจตกสะเก็ดหรือมีอาการเลือดออกด้วยเช่นกัน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

ส่วนใหญ่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และยังมีปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย อาทิ การสัมผัสกับสารพิษอันตรายเป็นเวลานาน หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนี้

  • มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
  • อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรือทาครีมกันแดด
  • อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
  • ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
  • ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
  • มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ

    การวินิจฉัย มะเร็งผิวหนัง จะอาศัยลักษณะรอยโรคที่พบ ตำแหน่งที่เป็น หรือการตัดชิ้นเนื้อไปดูเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์


การรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง
วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังจะแบ่งไปตามระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ และชนิดของมะเร็งผิวหนังที่เป็น เนื่องจากวิธีการรักษาแต่ละชนิดจะให้ผลกับการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้
1.การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า
เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งค่อนข้างเล็ก โดยแพทย์จะทำใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีลักษณะคล้ายกับช้อนขนาดเล็กคว้านบริเวณที่เป็นเนื้อร้ายออก จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้ที่เนื้อเยื่อโดยรอบ วิธีนี้อาจต้องทำติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง จึงจะสามารถนำเนื้อร้ายออกได้หมด
2. การรักษาด้วยการจี้เย็น
วิธีนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้กับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น โดยจะนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ด หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนสะเก็ดเหล่านั้นจะหลุดออก วิธีการรักษานี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นสีขาวเล็ก ๆ หลงเหลือไว้ที่ผิวหนัง
3. การผ่าตัดผิวหนัง  
เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยจะทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หากบริเวณที่ผ่าตัดออกมีขนาดใหญ่ อาจนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปิดบริเวณแผลเพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น และจะทำให้รอยแผลเป็นน้อยลงได้

Posted on

ผื่นกุหลาบ หรือ ขุยดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) : ผื่นทั่วร่างกาย ที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน

โรคขุยดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะผื่นแดงรูปวงรี คล้ายดอกกุหลาบ พบได้ประมาณ 1-2 % ของประชากร พบมากในช่วยวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อายุประมาณ 15-40 ปี พบได้ทั้งเพศชายและหญิงในอัตราส่วนเท่าๆกัน พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด โดยตรวจไม่พบเชื้อโรคหรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน บางสันนิษฐานเชื่อว่า เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เพราะสามารถหายได้เอง ในเวลา 6-8 สัปดาห์

ลักษณะอาการทางคลินิก: ผื่นอาจมีลักษณะสีแดง กลมรี มีขอบเขตชัด และมีสะเก็ด(scale) บางๆ ที่ขอบของผื่น (ดูภาพประกอบที่ 1 ) ที่เรียกว่า Herald Patch มักมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะพบได้ใน บริเวณลำตัว หรือแขนขาส่วนบน แต่ในรายที่เป็นรุนแรง อาจจะพบผื่น กระจายอยู่ทั่วลำตัว หรือแผ่นหลัง คล้ายต้นคริสต์มาส

การวินิจฉัยโรค: มักสังเกตจากลักษณะของผื่น แต่ขณะเดียวก็ต้องแยกผื่น จากโรคกลาก ซิฟิลิส การแพ้ยา โรคเรื้อนกวาง หรือผื่นจากหัดเยอรมัน หรือการติดเชื้อไวรัสอื่น

การรักษา: โรคนี้มักจะหายได้เอง การให้ยาจึงให้ตามอาการ เช่น ยารับประทานแก้แพ้ แก้คัน ครีมทาลดอาการคัน ส่วนการฉายแสง (Phototherapy) หรือการอาบแสงแดด มักจะใช้ในรายที่เป็นรุนแรงและเรื้อรังมากกว่า 3-4 เดือน

Posted on

หูด หรือตาปลา ( Wart) ติ่งเนื้อที่พบได้บ่อยๆ ชนิดของหูด สาเหตุและการรักษา

หูด ( Wart) เป็นติ่งเนื้อ ที่งอกยื่นออกมาจากผิวหนัง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ภายในชั้นหนังกำพร้า ติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค มักพบได้บ่อยในเด็ก หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
ชนิดของหูด แบ่งได้เป็นหลายชนิด ตามลักษณะที่แตกต่างดังนี้
 1. Common wart (Verruca Vulgaris) -ลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็ง ผิวค่อนข้างขรุขระ สีเหมือนผิวหนังหรือสีดำ อาจมีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ด พบบ่อยในเด็ก มักเป็นที่มือและเท้า มักไม่มีอาการอะไร ยกเว้นไปแกะเกา ให้เกิดบาดแผล
2. Plantar wart – หูดฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นปื้นหนาแข็งฝังอยู่ในเนื้อ สีค่อนข้างเหลือง เมื่อยืนเดินลงน้ำหนักหรือกดทับจะเจ็บ เป็นปื้นแข็ง แยกได้ยากจากตาปลา การจะแยกต้องใช้ใบมีดฝานตรงติ่งเนื้อ ถ้าเป็นหูดจะพบจุดเลือดออกเล็กๆ แต่ถ้าเป็นตาปลา ถ้าเฉือนไปเรื่อยๆ จะพบเนื้อดี

 3. Fusiform wart – เป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก ยื่นออกมาจากผิวหนัง ลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือเล็กๆ มักพบบริเวณใบหน้า และลำคอ พบได้บ่อยในคนสูงอายุ
4. Plane wart- หูดราบ –ลักษณะเป็นตุ่มแบน ผิวเรียบ สีเหมือนผิวหนัง มักพบเป็นกลุ่มบริเวณ หน้า คอ หลังมือ
การรักษา มีหลักการก็คือ กำจัดเนื้อเยื่อออกไปจากร่างกาย ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การจี้ด้วยไฟฟ้า
2. การผ่าตัด หรือตัดชิ้นเนื้อออก
3. เลเซอร์ ด้วย Co2 laser
4. การ แต้มด้วยสารเคมีลอกขุย(Kearolytic agents เช่น Salicylic acid) ให้หลุดลอกออก เช่น Collamack แต่ปัจจุบันยานี้ได้เลิกผลิตแล้ว
5. การแต้มด้วยยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสนี้ เช่น 5-FU (Vermumal,Duoflim)

จากทุกๆ วิธี แพทย์อาจจะเลือกทำวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีควบคู่กัน เพื่อจะกำจัดเชื้อไวรัสนี้ให้หมด เพราะถ้าไม่หมดอาจเกิดใหม่ได้ และถ้าทำลายมากเกินไป ก็อาจจะทำลายเนื้อดี เกิดแผลเป็นได้

การป้องกัน ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อหูด จากไวรัสนี้ และถ้ามีลักษณะทางคลีนิกของโรคนี้ ควรรีบกำจัดตั้งแต่เริ่มเป็น เพื่อป้องกันการลุกลามมากขึ้น เนื่องจากการสัมผัสหูดนี้บ่อยๆ แล้วไปโดนผิวหนังบริเวณอื่น อาจจะมีหูดหรือตาปลาเพิ่มขึ้นได้ ในบริเวณที่มือที่มีเชื้อไวรัสนี้ไปสัมผัส

หูด เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่มีอันตรายอะไร ไม่ทำให้เกิด
เป็นมะเร็งในภายหลัง

Posted on

ผื่นผิวหนังจากเชื้อรา (Cutaneous Candidiasis) : ผื่นแดงในที่อับชื้น ร่มผ้า ซอกขา ซอกแขน

ผื่นแดง (Cutaneous Candidiasis ) คือ ผื่นที่มีอาการคัน ดูแฉะๆ พบเกิดได้ในบริเวณร่มผ้า ที่อับชื้น
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา ในรูปของยีสต์ หรือ สายรา ที่เรียกว่า กลุ่ม Candida ที่พบบ่อยที่ก่อให้เกิดโรคในคน ชื่อ Candida albicans
ลักษณะผื่นที่พบ จะมีลักษณะ เป็นปื้นแดง คัน เปื่อย มีขุยโดยรอบ และมักมีการแตกของผื่น กระจายเป็นตุ่มแดง เป็นกลุ่มๆ อักเสบ อาจมีหนอง รอบๆ ผื่นได้ คล้ายเป็นบริวารของผื่น ที่เรียกว่า Setellite lesions )
ตำแหน่งที่พบ มักพบบริเวณซอกหรือในร่มผ้า ที่มีความชื้นสูง ได้แก่ ร่องก้น ขาหนีบ ซอกรักแร้ ซอกนิ้วมือ ซอกนิ้วเท้า ใต้อก(ในคนอ้วน) สะดือ บริเวณอวัยวะเพศของเด็กที่ใส่ผ้าอ้อม ใต้ราวนม(ในคนอ้วน)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เชื้อรา Candida มีความแตกต่างจากเชื้อราที่ทำให้เกิด กลาก เกลื้อน เพราะเป็นเชื้อราที่พบเป็น จุลินทรีย์( normal flora) บริเวณ ช่องปาก ทางเดินอาหาร และช่องคลอดของสตรีอยู่แล้ว ปกติไม่ทำให้เกิดโรค ยกเว้นจะมีปัจจัยเสริมดังนี้
1. ภาวะภูมิคุ้มกันลดลง จาก โรคเบาหวาน มะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดผิดปกติ
2.ความอับชื้นจากอากาศ การแต่งกาย ผ้าอ้อม การใส่เฝือก ภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ
3.ความอ้วน
4.ยาที่รับประทานประจำ เช่น เสตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด
5.การใส่ฟันปลอม
6.การตั้งครรภ์
7.สภาวะความเป็นกรดของช่องคลอด
8.การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ

การวินิจฉัยการติดเชื้อ Candidiasis แยกจากการติดเชื้อราจากโรคกลาก ได้โดยการขูดขุย หรือตุ่มหนอง มาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือจากการเพาะเชื้อ นอกจากนี้ ผื่นจากเชื้อกลาก มักแห้งกว่า และขอบเขตชัดกว่า ไม่มีบริวารลูก และไม่ค่อยคันมาก

การดูแลและการป้องกันรักษา

1. ขจัดหรือควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค ข้างต้น
2. ใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งในรูปของครีม เช่น cloteimazole cream ทา วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็ฯ หรือ ถ้าเป็นมากๆ อาจให้รับประทานยา ketoconazole วันละ 1 เม็ด นาน 1-2 สัปดาห์ มักจะหายขาด

Posted on

เกลื้อนแดด หรือ กลากน้ำนม (Pityriasis alba) : รอยด่างขาวบนใบหน้า ที่ไม่ใช่เชื้อรา

ในเด็ก หรือ วัยรุ่นบางคน โดยเฉพาะผู้หญิง จะพบว่า บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้ม อาจพบรอยด่างๆ เป็นวงๆ รูปไข่ หรือวงกลม อาจมีสีชมพูจางๆ หรือสีผิวซีดกว่าบริเวณข้างเคียง ทำให้ผิวหน้าเกิดรอยด่างเป็นดวงๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนสะอาด คล้ายโรคเกลื้อน ทำให้บางคนเรียกรอยด่างนี้ว่า เกลื้อนแดด( P.alba)

มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน หรือในภาวะแดดจัด พบมากในคนแถบเอเซีย สาเหตุที่แน่ชัดไม่ทราบ แต่คาดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของผิวหนังอักเสบ โดยเกิดจากเซลล์เมลานิน ไม่สร้างเม็ดสีผิว ในบริเวณดังกล่าว เมื่อเทียบกับบริเวณข้างเคียงที่ตอบสนองต่อแสงแดด เพราะในภาวะปกติ ถ้าโดนแดดบ่อยๆ สีผิวจะคล้ำขึ้น แต่บริเวณรอยด่าง เซลล์ไม่ตอบสนองต่อแสงอุตราไวโอเลต หรือ ตอบสนองไม่เท่ากัน จึงเกิดสีผิวที่แตกต่างกันขึ้น

บางครั้งต้องแยกจาก การติดเชื้อราเกลื้อน แต่มักแตกต่างคือ เกลื้อนมักมีขอบเขตชัด และถ้าขูดบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์จะพบสายพันธุ์ของเชื้อรา แต่รอยด่าง P.alba จะไม่พบเชื้อราดังกล่าว บางคนจึงเรียกว่า เกลื้อนแดด

บางครั้ง ต้องแยกจาก ผื่นแพ้ Atopic dermatitis ซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก เพราะฉะนั้นถ้าสงสัย อาจต้องพบแพทย์ผิวหนัง

แนวทางการรักษา 

1. โรคนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา มักหายได้เอง เมื่ออายุมากขึ้น
2. อาจใช้ครีมกันแดด ก่อนโดนแดด เพื่อมิให้รอยด่างชัดขึ้น
3. การใช้ครีมทา Steroids บริเวณรอยด่าง จะทำให้การอักเสบของเซลล์ดีขึ้น และหายเป็นปกติ
4. ถ้ามีอาการผิวแห้งแตกร่วมด้วย อาจต้องทาครีมบำรุง เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น


Posted on

ผิวแห้ง แตก คัน (Dry skin or Xerosis dermatitis) กลัวแก่ เกาจนเป็นแผล จะป้องกัน แก้ไขอย่างไร

ผิวหนังแห้ง เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อย มีลักษณะแห้งและมีขุย อันทำให้เกิดอาการคัน การเกา ซึ่งนำมาให้เกิดการเพิ่มการคัน อักเสบ และเป็นแผลในภายหลัง พบบ่อยบริเวณหน้าแข้ง หลังมือ แขน และผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าผิวหน้าแห้งบ่อยๆ อาจทำให้เกิดปัญหาฝ้า ริ้วรอยเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัยอันควร ในรายที่เป็นมากๆ ชั้นผิวหนังด้านบนจะหดตัว แห้งแตกเป็นร่องได้
สาเหตุ มักเกิดจากการขาดน้ำในส่วนผิวหนังส่วนนอก ซึ่งอาจเกิดจากความชื้นของอากาศน้อย เช่นในหน้าหนาว หรืออยู่ในห้องปรับอากาศนานๆ การใช้สบู่ที่ชำระล้างไขมันบนผิวหนังมากเกินไป แต่บางครั้งอาจเกิดจากโรคภายในร่างกายได้อาทิ โรคทางต่อมทัยรอยด์ เป็นต้น
แนวทางในการวินิจฉัย เมื่อพบแแพทย์ ด้วยปัญหาทางผิวหน้งแห้งผิดปกติ เพื่อหาสาเหตุ
1.ต้องซักประวัติ แยกจากโรคภูมิแพ้ Atopic Dermatitis หรือโรคทางพันธุกรรมอย่างอื่น
2. ประวัติการเกิดโรค ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้
3. การทำความสะอาดผิวหนัง เช่น ชนิดของสบู่ ความบ่อยในการอาบน้ำ เป็นต้น

การป้องกันและรักษาปัญหาผิวแห้ง หลักการก็คือ เพื่อป้องกันการเสียน้ำจากผิวหนังมากขึ้น และเพิ่มปริมาณน้ำที่เสียไปให้กับผิวหนัง ดังนี้

  1. การอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำบ่อย น้ำที่อาบควรเป็นน้ำอุ่น ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิ ประมาณ 34 องศาC
  2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ให้พอดีรู้สึกสบาย
  3. เพิ่มความชื้นให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องเพิ่มความชื้น(Ultrasonic humidifiers)
  4. ทาครีมที่ลดการสูญเสียน้ำ อาทิ สารพวก Vaseline, Petrolatum ,Lanolin,Ceramide
  5. เพิ่มการดึงน้ำจากอากาศเข้าผิวหนัง โดยใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ 20-45 % Propylene Glycol ,Glycerine ,Urea,Ceramide
  6. การทาครีมที่มีส่วนผสมของ AHAs จะช่วยลดความหนาของผิวหนัง ลดการตึงตัว ทำให้ผิวหนังนุ่มนวลขึ้นได้
  7. การใช้ครีมทาแก้แพ้ หรือแก้คัน ที่มีส่วนผสมของสารเสตียรอยด์ ควรทาเท่าที่จำเป็น เพราะมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้ และ ไม่ควรเกา
  8. หลีกเลี่ยงการอบซาวน่า หรือ การขัดผิว
  9. เลือกสบู่ที่ไม่มีความเป็นกรด หรือ ด่างแรงๆ ควรใช้สบู่อ่อนๆ ที่มีสารเคลือบผิว
  10. ใช้ครีมบำรุงทาเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัวที่ได้ผลดี เช่นกลุ่มผสมยูเรีย Ceramide,Aloe vera
Posted on

Dyshidrosis : โรคผิวหนังอักเสบ ตุ่มน้ำใสที่มือ คันมืออย่างมาก รักษาอย่างไร

โรคตุ่มน้ำใสที่มือ(Dyshidrosis)

เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากภาวะที่ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ มีอาการเป็นๆ หายๆ และทำให้คันได้มากพอควร มักจะพบตามนิ้วมือ และซอกนิ้วเท้า
สาเหตุ ไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดในคนที่ทำงานบ้าน เช่น ซักผ้า ล้างจาน จึงเชื่อว่าอาจเกิดจากการแพ้ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน เกิดในคนที่เครียดบ่อยๆ หรือ คนที่เหงื่อออกมากตามมือและเท้า
อาการ เริ่มแรกของโรคนี้ ก็คือ การที่มีตุ่มน้ำ และมีสะเก็ดลอกๆ บางๆ ที่ซอกนิ้วมือ หรือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักเกิดทั้งสองข้าง มีรอยแดงๆ มักจะคัน และเมื่อเกามากๆ อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดเป็นแผลพุพอง ปวดเจ็บได้ ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจเกิดตุ่มน้ำเป็นปื้นหนาได้

แนวทางการป้องกันและรักษา 

1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดจากแพ้ เช่น การล้างจาน หรือ ซักผ้าควรใส่ถุงมือป้องกัน
2. แนะนำให้พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินควร
3. แนะนำให้ทำการประคบเปียก หรือแช่มือ ด้วยน้ำยา Burow’s solution หรือ ด่างทับทิมเจือจาง( Potassium permanganate solutins) เพื่อช่วยลดภาวะเหงื่อ และการชื้นแฉะ
4. กรณีที่เป็นไม่มาก การทาครีมสเตียรอยด์ ที่ออกฤทธิ์ปานกลาง ถึงรุนแรง เช่น Betnovate ,Clobetasone แล้วใช้พลาสติกหุ้ม ก็ทำให้หายได้เร็วขึ้น
5. กรณีที่เป็นมาก หรือ อาการกำเริบ แนะนำให้รับประทานยากลุ่มเสตียรอยด์ เป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือ รับประทานยาแก้แพ้ เช่น chorpheniramine

Posted on

สะเก็ดเงิน ( Psoriasis) : โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง รักษายังไง หายขาดได้มั้ย !

โรคสะเก็ดเงิน ( Psoriasis) คืออะไร

เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดทีแท้จริง แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุ์กรรม ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการ ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยๆ ได้แก่ การติดเชื้อ การได้รับอันตรายที่ผิวหนัง การแกะเกา ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น
พบบ่อยมั้ย พบได้ประมาณ ร้อยละ 2-4 ของประชากรโลก พบในเพศชายและเพศหญิงในอัตราที่เท่าๆกัน เป็นโรคที่เกิดจากการหนาตัวของเซลล์ผิวหนังกำพร้าชั้น Epidermis และมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น แต่ขาดแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์ ทำให้หลุดลอกเป็นแผ่นๆ ได้ง่าย
ลักษณะอาการ มักพบเป็นผื่นแดงนูน หรือปื้นสีแดง ขอบเขตชัด และมีขุยสีขาวคล้ายเงิน ติดค่อนข้างแน่น และถ้าแกะสะเก็ดเงิน จะแกะได้ยากและอาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ ได้
บริเวณที่มักมีอาการ พบได้หลายที่ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง บริเวณข้อศอก หัวเข่า ศีรษะ เล็บ และข้อ บางครั้งอาจพบในบริเวณที่มีรอยขีดข่วน ในรายที่เป็นมาก อาจพบทั้งตัวได้ และผื่นเหล่านี้เป็นเรื้อรัง และไม่ติดต่อ ผื่นจากขึ้นๆ ยุบๆ

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงมุ่งไปที่การทำให้ผื่นของโรคดีขึ้นหรือสงบลง พร้อมกับป้องกันมิให้โรคกำเริบขึ้น โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น การติดเชื้อแทรกซ้อน การได้รับอันตรายทางผิวหนัง ยาบางชนิด ความเครียด ดังนี้
1. ยาทา: มักใช้ในกรณีที่ผื่นไม่มากนัก น้อยกว่า 20% ของผิวหนัง หรือผื่นไม่กระจัดกระจายมากนัก ได้แก่
1.1 ยาทากลุ่มสเตียรอยด์: เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้และราคาไม่แพง และไม่ระคายเคือง แต่ก็ควรใช้ในระยะสั้นๆ หรือในช่วงที่ผิวหนังกำเริบ เพราะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวด่างขาว และการดื้อยา
1.2 น้ำมันดิน (Tars): มักให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับยาทาสเตียรอยด์ แต่มีข้อเสียที่มีกลิ่นเหม็นและติดเสื้อผ้าดูสกปรก นอกจากนี้ยังระคายเคือง ทำให้ไม่อาจทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศได้ จึงมักจะผสมในแชมพูสำหรับรักษาที่หนังศีรษะมากกว่า
1.3 ยากลุ่ม Anthralin: เป็นยาที่นิยมใช้ในแถบยุโรปและอเมริกา เพราะได้ผลดี และทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้น้อย แต่ยาก็มีข้อจำกัดในการระคายเคือง และทำให้ผิวหนังคล้ำขึ้นได้ จึงไม่อาจทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศได้
1.4 ยากลุ่มวิตามินD3 ( Calcipotriol หรือ ชื่อการค้าว่า Daivonex) เป็นยาตัวใหม่ล่าสุดที่เป็นที่นิยมทั้งในแถบยุโรปและอเมริกา และในประเทศไทยได้มีการเริ่มใช้ยาทากลุ่มนี้กันบ้าง เนื่องจากให้ผลการรักษาดี รวดเร็วพอๆ กับยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่มีสี หรือกลิ่นเหมือนน้ำมันดิน และแอนทราลิน แต่ก็เกิดการระคายเคืองได้เช่นกันแต่น้อยกว่า น้ำมันดินและแอนทราลิน จึงควรระวังเมื่อทาบริเวณใบหน้า ข้อพับและอวัยวะเพศ ในปัจจุบันแพทย์ผิวหนังหลายๆ ประเทศแนะนำให้ใช้ควบคู่กับทายากลุ่มสเตียรอยด์ในช่วงแรกๆ แล้วค่อยๆ ลดความถี่ในการทาครีมสเตียรอยด์ เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น แต่ยาตัวนี้ก็มีข้อจำกัดก็คือ ราคาแพงพอดูทีเดียว (หลอดละ 500 กว่าบาทต่อการบรรจุหลอด 30 กรัม มีทั้งแบบครีมทาและโลชั่นกรณีที่เป็นที่หนังศีรษะ )

2. การฉายแสง (Phototherapy) และหรือควบคู่กับยารับประทาน: มักจะใช้ในกรณีที่ผื่นมีบริเวณกว้างกว่า 20 % ของผิวหนัง หรือผื่นค่อนข้างกระจัดกระจาย ทำให้การทายาไม่ค่อยสะดวก แบ่งได้เป็น
2.1 การฉายแสงอัตราไวโอเล็ตบี: ได้ผลดีกับโรคสะเก็ดเงินที่เป็นมากหรือปานกลาง คือได้ผลประมาณ 80% ขึ้นไป แต่ก็มีผลข้างเคียงได้แต่น้อย ได้แก่ อาการคันและอาการแดงหรือใหม้ของผิวหนัง แต่ก็มีข้อจำกัดก็คือ ผู้ป่วยต้องมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา2-3 เดือนติดต่อกัน และมักจะมีให้บริการเฉพาะรพ.ของรัฐหรือเอกชน เช่น ที่สถาบันโรคผิวหนัง เป็นต้น
2.2 การฉายแสงอัตราไวโอเล็ตบีร่วมกับการรับประทานยาซอลาเร็น(PUVA): โดยพบว่าได้ผลดีในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่เป็นมาก ได้ผลประมาณร้อยละ 85 โดยผู้ป่วย ต้องมารับการฉายแสงรักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้งประมาณ 20-30 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 สัปดาห์ และให้การรักษาต่อประมาณ 2-3 เดือน จึงจะทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำลดลง แต่ก็มีผลข้างเคียงได้ ที่พบบ่อย ได้แก่ การคลื่นไส้ คัน และอาการแดง หรือใหม้ของผิวหนัง ในระยะยาว อาจเกิดผลข้างเคียง ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ แต่ก็พบน้อยในคนไทย เนื่องจากมีผิวสีคล้ำ
2.3 กรดวิตามินเอ: ที่ใช้กันมากก็คือ เอ็ดเทร็ดทิเนต ซึ่งได้ผลดีปานกลางถ้าใช้รับประทานเดี่ยวๆ แต่จะได้ผลดีถ้ารับประทานควบคู่กับการฉายแสงอัตราไวโอเลต ผลข้างเคียงที่พบ ก็คือ ทำให้ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย ยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงคล้ายๆ กับยากลุ่มเรตินอยด์ ( เช่น Roaccutane) ก็คือ ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ทำให้ตับอักเสบ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรตรวจเลือดทุกๆ 1-3 เดือน แต่พบว่ายานี้มีข้อจำกัดก็คือ ต้องหยุดยาเกิน 2 ปีจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ หรือ ถ้าใช้ยาเกิน 1 ปีอาจจะทำให้เกิดกระดูกงอกได้ จึงต้องระวังในผู้ป่วยเด็ก
2.4 ยาเม็ทโทเทร็กเสด( MTX): ได้ผลดีและราคาไม่แพง แต่ก็มีผลข้างเคียงสูง เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มักไม่ค่อยนิยมใช้ ยกเว้นผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉายแสงอัตราไวโอเลต
2.5 ยา Cyclosporin: ยาดังกล่าวได้ผลดีมากโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง มักจะให้กรณีที่รักษาด้วยยาทา การฉายแสง หรือการให้กรดวิตามินเอ แล้วไม่ได้ผล เพราะยามีผลข้างเคียงสูงมาก เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ ตับอักเสบ จึงต้องตรวจเลือดเช็คเป็นระยะๆ
โรคนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะการรักษา อาจมีการหมุนเวียนสลับกัน เพราะถ้าใช้การรักษาอย่างเดิม อาจเกิดการดื้อยา หรือ เกิดผลข้างเคียงจากยา และแนะนำให้รักษาในรพ.ของรัฐ โดยเฉพาะที่สถาบันโรคผิวหนัง ที่มีคลินิกรักษาโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ มีเครื่องมืออาบแสงที่ทันสมัย และราคาไม่แพง

136811434

Posted on

งานวิจัย : 6 สมุนไพรไทย(Thai Herbs) ที่ได้ผลในการรักษาโรคทางผิวหนัง

ปัจจุบันนี้ การแพทย์แผนไทย ได้มีบทบาทในการรักษาโรคมากขึ้น แม้แต่การรักษาทางด้านผิวหนัง ซึ่งตามภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ดั้งเดิม มีสมุนไพรมากมาย และ หลากหลาย
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสมุนไพรแผนปัจจุบัน ที่ได้มีการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่าได้ผลในการรักษาปัญหาทางผิวหนัง
1. กระเทียมในการรักษาเชื้อราที่เท้า : ได้มีรายงานการทดลองในปี 2539 พบว่า ได้ใช้สารสกัดจากกระเทียม ที่ประกอบด้วย 0.4% ajoene Gel ทารักษาเชื้อราที่เท้าในกลุ่มคนไข้ทดลอง 34 ราย พบว่าคนไข้ 27 ราย หายภายใน 1 สัปดาห์ (ร้อยละ 79) และอีก 7 ราย (ร้อยละ 21) หายภายใน 2 สัปดาห์
2. ผักบุ้งทะเลกับการรักษาอาการแพ้พิษแมงกระพรุน: ได้มีการทดลองสกัดครีมจากใบผักบุ้งทะเล 1% นำมารักษาอาการผื่นแพ้พุพองจากแมงกระพรุนไฟว่าในสารผักบุ้งทะเล มีฤทธิ์ยับยั้งการทำลายโปรตีนและเม็ดเลือกจากพิษแมงกระพรุน ทำให้แผลหายเร็วขึ้นภายใน 2 วัน หรือในรายที่เป็นพิษแผลเรื้อรัง แผลจะแห้งใน 2 สัปดาห์ และหายสนิทใน 1 เดือน

3. พญายอรักษาโรคเริมที่เป็นซ้ำในบริเวณอวัยวะเพศ: โดยการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีตุ่มแผลจากเริมภายใน 48 ชั่วโมง จำนวน 163 ราย แล้วจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มที่ทายาสกัดจากใบพญายอ
– กลุ่มที่ทายาจากเมืองนอก คือ Acyclovir
– และกลุ่มที่ทายาหลอก โดยการให้ผู้ป่วยทุกกลุ่มทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน
ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ทายาสกัดจากใบพญายอ และกลุ่มที่ทายาจากเมืองนอก คือ Acyclovir ได้ผลพอๆ กัน โดยทำให้ตุ่มแผล ตก สะเก็ดภายใน 3 วันและแผลหายภายใน 7 วัน แตกต่างกับกลุ่มที่ทายาหลอก อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้ยาครีมที่มีสารสกัดจากพญายอในการรักษาผู้ป่วยงูสวัด ก็ได้ผลดีและแตกต่างจากการใช้ยาหลอกเช่นกัน
4. ว่านหางจระเข้กับการรักษาแผลไฟใหม้: มีการทดลองพบว่าน้ำเมือกของว่านหางจระเข้ จะมีสาร Glycoprotein fractions ซึ่งเมื่อทาหรือทำเป็นขี้ผึ้งทาภายนอกที่แผลพุพอง หรือแผลไหม้จากความร้อน รังสียูวีจากแสงแดด หรือรังสีจากกัมมันตรังสีอื่นๆ สารตัวนี้จะทำให้มีเกิดจากแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชั้น Keratinocyte เร็วขึ้น ทำให้แผลสมานกันได้ดีและเร็วขึ้นด้วย

5. ตะไคร้หอมป้องกันยุง : ได้มีการทดลองนำครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย 14% ของครีมตะไคร้หอม ทาไล่ยุงในอาสาสมัคร 20 ราย พบว่า สามารถป้องกันและไล่ยุงได้ผลถึง 13 ราย ( ร้อยละ 65 ) โดยมีฤทธิ์ได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง
6. น้อยหน่ารักษาเหาที่ศีรษะ: มีการทดลองใช้น้ำยาที่คั้นจากเมล็ดน้อยหน่าบดกับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 สามารถฆ่าเหาได้ร้อยละ 90-98 ซึ่งพบว่าได้ผล กว่าน้ำยาฆ่าเหาแผนปัจจุบัน ( 25% Benzyl benzoate) ที่ได้ผลเพียงแค่ร้อยละ 60

อนึ่งยังมีสมุนไพรภูมิปัญญาชาวบ้านอีกหลายชนิดที่ยังอยู่ในระหว่างศึกษาและทดลอง เช่น การใช้ขมิ้นชันในการรักษาแผลแมลงกัดต่อย เปลือกมังคุด กับการรักษาแผลพุพอง เน่าเปื่อย ข่าและชุมเห็ด กับการรักษากลากเกลื้อน ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป

ท้ายสุดนี้ ในความเห็นของผู้เขียน แม้ว่าสมุนไพรจะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าไม่มีผลข้างเคียง หรือผลข้างเคียงน้อย แต่ก็มี รายงานการแพ้ให้เห็นบ่อยๆ ตั้งแต่ผื่นแพ้เล็กน้อย จนถึงผื่นแพ้รุนแรง โดยเฉพาะการนำสมุนไพรมาทำการรักษาปัญหาผิวพรรณบนใบหน้า ซึ่งยังไม่มีรายงานการแพทย์หรือรายงานทางคลินิกว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด ดังนั้นท่านที่นำมารักษาผิวพรรณที่ใบหน้าด้วยตนเอง หรือจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่ไม่มีแพทย์ดูแล จึงต้องระวังและสังวรณ์ไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ย่อมต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่มากกว่ามากนัก

Posted on

ขี้แมลงวัน ( Lentigines ) กับ ไฝ (Moles) สังเกตอย่างไร ว่าอาจจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง

ไฝ และขี้แมลงวัน เกิดจากอะไร

ไฝ และขี้แมลงวัน มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ เซลล์เมลาโนไซท์ (Melanocytes ) มีหน้าที่ใน การสร้างเม็ดสีเมลานิน ซึ่งปริมาณและขนาดของเมลานิน แล้วเกิดเป็นเนื้องอกจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ โดยไฝจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ส่วนขี้แมลงวันจะเป็นตุ่มราบสีดำ และอยู่ตื้นกว่าไฝ
โดยทั่วๆ ไป ไฝ และขี้แมลงวัน จะมีการเพิ่มขึ้นตามอายุอย่างช้าๆ ซึ่งมักจะสังเกตได้ในช่วงวัยรุ่น หรือตั้งครรภ์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในบริเวณทั่วตัวพร้อมๆ กัน
ไฝ และขี้แมลงวัน จะมีโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ที่เรียกว่า Melanoma ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องสังเกตให้ได้ และแก้ไขได้ทันท่วงที

ไฝ และขี้แมลงวัน แบบไหน ต้องไปพบแพทย์

1. ไฝ และขี้แมลงวัน ที่ได้รับการระคายเคืองบ่อยๆ
2. ไฝ และขี้แมลงวัน ในบริเวณที่สังเกตได้ยาก เช่น บนหนังศีรษะ หรืออวัยวะเพศ
3. ไฝ และขี้แมลงวัน ที่มีมาแต่กำเนิดและขนาดใหญ่ เช่น ไฝยักษ์ ( Giant congenital melanoma
4. ไฝ หรือขี้แมลงวัน ที่มีลักษณะผิดปกติ ได้แก่
4.1 สีดำเข้มผิดปกติกว่าที่อื่นๆ
4.2 สีที่ไม่สม่ำเสมอ หรือสีเปลี่ยนอย่างกะทันหัน
4.3 ขอบเขตไม่เรียบ
4.4 ขนาดใหญ่เกิน 5 มม.
4.5 โตเร็วผิดปกติ

สงสัยมะเร็งผิวหนัง แพทย์จะทำอย่างไร

  1. ตัดไฝ และขี้แมลงวันออกทั้งหมด (Excisional Biopsy) ซึ่งถือว่าเป็นเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่มักใช้ได้กับไฝที่ไม่โตมากนัก แล้วส่งชิ้นเนื้อของไฝ และขี้แมลงวัน ส่งตรวจพยาธิสภาพ ถ้าบ่งว่าเป็นมะเร็ง ก็ทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
  2. ตัด ไฝ และขี้แมลงวันออกบางส่วน ( Incisonal Biopsy) มักจะใช้ในกรณีที่ไฝที่มีขนาดใหญ่ ถ้าตัดออกหมด อาจจะทำให้สูญเสียความสวยงาม หรือ อาจจะทำให้มีผลต่อการใช้งานได้ แล้วส่งชิ้นเนื้อของไฝ และขี้แมลงวัน ส่งตรวจพยาธิสภาพ ถ้าบ่งว่าเป็นมะเร็ง ก็ทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไปเช่นกัน
  3. หมั่นตรวจ ติดตามผล โดยอาจจะต้องถ่ายรูปผิวหนังบริเวณดังกล่าวเป็นระยะๆ และพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  4. ไม่แนะนำให้ทำการจี้ หรือกำจัดออกด้วยการไฟฟ้า หรือเลเซอร์ สำหรับกรณีไฝที่ผิดปกติ หรือสงสัยเนื้อร้าย เพราะอาจจะทำให้ไม่สามารถส่งชิ้นเนื้อ ไปตรวจพยาธิสภาพได้ และอาจจะทำให้การแปรผลผิดพลาดได้เช่นกัน

ได้เคยมีการศึกษา ถึงอัตราการเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง จากการปัจจัยต่างๆดังนี้ ว่าจะมีโอกาสเกิดได้สูงกี่เท่า ดังตารางต่อไปนี้

ลักษณะของไฝอัตราเสี่ยง (เท่า)
มีไฝ ขนาด หรือรูปร่างเปลี่ยนแปลงสูงมาก
อายุมากกว่า 15 ปี เมื่อเทียบกับอายุน้อยกว่า 15 ปี88
ผิวขาว เมื่อเปรียบเทียบกับคนผิวดำ20
มีไฝขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 มม. ขึ้นไป 50 เม็ด4-54
มีไฝขนาดใหญ่ตั้งแต่ 5มม. ขึ้นไป 5 เม็ด7-10
มีไฝขนาดใหญ่ตั้งแต่ 5มม. ขึ้นไป 12 เม็ด41
เคยเป็น มะเร็งผิวหนัง Melanoma มาก่อน9
มีญาติสายตรงเป็น มะเร็งผิวหนัง Melanoma8
มีภาวะถูมิคุ้มกันบกพร่อง4
มีไฝ เป็นมาแต่กำเนิด2-21
Posted on

โรคเรื้อน(Leprosy) สาเหตุ อาการ การป้องกันและรักษา

โรคเรื้อน(Leprosy) คืออะไร

คือ โรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Mycobacterium leprae( M.leprae) ที่ทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เยื่อบุจมูก และเส้นประสาทส่วนปลาย
พบบ่อยแค่ไหน จากรายงานของกองโรคเรื้อน เมื่อปี 2562 พบผู้ป่วย เพียง 269 ราย อัตราการชุกของโรคประมาณ 0.04 รายต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงมาก เมื่อเทียบกับ 40-50 ปีก่อน
อาการเป็นอย่างไร
1.มีลักษณะผื่นระยะต่างๆ ที่เหมือนหรือคล้าย รอยโรคระยะต่างๆ
2..มีอาการชาที่บริเวณรอยโรค ตั้งแต่สูญเสียความรู้สึกสัมผัสเบาๆ จนถึงเสียความรู้สึกร้อนเย็น หรือความรู้สึกเจ็บ
3. มีเส้นประสาทที่โตกว่าปกติ
4. ขูดหรือกรีดบริเวณรอยโรค แล้วนำไปย้อมน้ำยา acid fast strain แล้วส่งด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วพบเชื้อ M.laprae ติดสีแดง
แพทย์จะพิจารณาจากอาการแสดงข้างบน เพื่อการวินิจฉัย จะต้องมีอาการแสดงอย่างน้อย 2 ข้อใน 3 ข้อแรกข้างบน และ/หรือ ตรวจพบเชื้อโรคนี้จากกล้องจุลทรรศน์

ติดต่อทางไหน รักษาอย่างไร

การติดต่อ เดิมเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเรื้อน แต่ในปัจจุบัน และหลักฐานหลายอย่าง ทำให้เชื่อว่า การติดเชื้อ ได้โดยการหายใจ ซึ่งพบเชื้อโรคเรื้อนในอากาศ หรือชุมชนที่มีผู้ป่วยอาศัยอยู่ และมีระยะฟักตัว ตั้งแต่ 3-10 ปี ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคเรื้อน
ทำไมต้องกักตัว สิ่งที่ทำให้โรคเรื้อนเป็นที่รังเกียจของสังคม คือ ความพิการที่ตรวจพบ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคได้ทำลายเส้นประสาท ทำให้เสียหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้อ่อนกำลัง หรือ ลีบ หรือหงิกงอ และระยะที่มีการเห่อ หรือโรครุนแรงขึ้น เช่น มีการกระจายของผื่นอย่างรวดเร็ว ผิวหนังเป็นมันและชุ่ม
แนวทางการรักษา ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้การรักษาด้วยยาผสมหลายตัวในระยะเวลาสั้น เพื่อป้องกันภาวะพิการ ทำลายแหล่งและตัดวงจรการระบาดของโรค เรียกว่า MDT ( multi-drug therpy) ซึ่งจะใช้ตัวยาหลายตัวร่วมกัน เช่น Dapsone,Rifampicin,Clofazimine,Ethionamide ,Fluoroquinolone,Macrolides antibiotics ,Minocycline และอาจใช้ยากลุ่มเสตียรอยด์บ้าง ทั้งในรูปของการทา และรับประทาน กรณีที่โรคเห่อมาก หรือเส้นประสาทอักเสบ มีตุ่มอักเสบรุนแรง
ระยะเวลาในการรักษา ได้มีการกำหนดแน่นอน และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ให้หยุดยาได้เลย และได้แบ่งระยะเวลาในการรักษา ตามความรุนแรงดังนี้
1.ประเภทผู้ป่วยเชื้อน้อย ใช้เวลาในการรักษา 6 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 6 ครั้ง ในระยะเวลา 9 เดือน
2.ประเภทผู้ป่วยเชื้อมาก ใช้เวลาในการรักษา 24 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 24 ครั้ง ในระยะเวลา 36 เดือน
ผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรต้องเข้าใจในภาวะและระยะของโรค ตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ทั้งจากการดำเนินของโรคเอง ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ การรักษาแนะนำให้รักษาในรพ.ที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ สถาบันโรคผิวหนัง หรือรพ.ของรัฐที่มีศักยภาพ เพราะจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศไทยไม่มากนัก ตามคลินิกผิวหนังและรพ.บางแห่ง อาจไม่มียาไว้ในคลังยา

Posted on

ปานแดง (Vascular Birthmarks) : ความผิดปกติแต่กำเนิด ที่ไม่ควรมองข้าม

ปานแดง คืออะไร

ปานแดง  (Vascular Birthmarks) คือสีผิวที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มักปรากฏบนผิวหนังของเด็กแรกคลอด หรือปรากฏขึ้นหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้ไม่นาน มักมีสีชมพู ม่วง หรือแดง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch) หรือปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) คือปานที่มีสีออกแดงหรือชมพู มีลักษณะเรียบ พบได้ทั่วไป และพบได้บ่อยถึง 1 ใน 3 ของเด็กแรกเกิด มักปรากฏบริเวณท้ายทอย เปลือกตา หรือหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว
การรักษา ปานจะหายไปเองภายในไม่กี่เดือน แต่ปานที่เกิดขึ้นบนหน้าผากนั้นอาจจะใช้เวลา 4 ปีจึงจะหายไป ส่วนปานที่อยู่บนท้ายทอยจะไม่หายไป อาจจะรักษาด้วยเลเซอร์ ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
2. ปานสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) คือจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม และบีบได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง ทารกแรกเกิดอาจมีปานแดงชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากมักปรากฏขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ปานสตรอว์เบอร์รี่มักฝังลึกอยู่ในผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง ขนาดของปานขยายเร็วในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะค่อย ๆ หดเล็กลงและหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 ปี
อันตรายของปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด
-ปานแดงชนิดนี้ ถ้ามีมากกว่า 5 ตำแหน่ง ต้องรับการตรวจเพิ่มเติม เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีปานเนื้องอกหลอดเลือดเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นภายในร่างกาย นอกเหนือจากที่ผิวหนังด้วย
– หรือถ้ามีปานชนิดนี้ขึ้นบริเวณใบหน้าขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร อาจพบร่วมกับกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า PHACE syndrome ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของ ตา หัวใจ และหลอดเลือดอื่นๆในร่างกาย
แนวทางการรักษา ปกติมักจะหายได้เอง ภายใน 1ปี ถ้าไม่หาย ควรทำการรักษาดังนี้

  • รักษาด้วยยากิน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาโพรพาโนลอล
  • รักษาด้วยยาทา เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
  • รักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
  • รักษาด้วยการผ่าตัด

3. ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-wine Stain) ปานแดงชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดใต้ผิวหนังเรียงตัวผิดปกติ มักจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงราบ บริเวณใบหน้า โดยพบบ่อยในซีกใบหน้าด้านขวามากกว่า ด้านซ้าย มักกระจายตามเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigerminal nerve branch) ในระยะแรกจะจางลงเมื่อกด แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปานแดงจะสีเข้มขึ้นจนเกือบเป็นสีม่วง และลักษณะผิวที่เคยราบเรียบ อาจมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำได้ ปานชนิดนี้จะนูนหนาขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สามารถขึ้นได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
อันตรายของปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน
-ถ้าพบปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตนตามริมฝีปาก รอบรูจมูก อาจบดบังทางดินหายใจได้ อาจพบปานชนิดนี้ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น
ความผิดปกติของกระดูก ถ้ามีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณแขน ขา อาจพบความผิดปกติของกระดูกร่วมด้วยในข้างเดียวกัน ผู้ป่วยมักจะมีแขนขาโต เท้าโตผิดรูป มีปัญหาด้านการเดิน บางรายอาจพบปานชนิดอื่นๆ เช่น ปานดำ ปานสีน้ำตาล ปนมาด้วย
อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณซีกนึงของใบหน้า อาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลมชัก สติปัญญาต่ำ
อาการทางสายตา ในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณรอบตา เปลือกตา นอกจากปานนี้จะนูนหนาบดบังการมองเห็นแล้ว ยังสามารถมีอาการร่วมที่เป็นปัญหาจากกระบอกตา จอประสาทตา ทำให้มีต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นมองไม่เห็นได้
แนวทางการรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถยุบตัวเองได้ ปล่อยไว้นานมีแต่จะขยายขนาด สีเข้มชัด และนูนหนามากขึ้น เด็กที่มีปัญหาปานแดง มักจะมีปัญหาทางจิตใจทีผุ้ปกครองไม่ควรละเลย เนื่องจากทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลต่อบุคลิกภาพ และการเข้าสังคม นอกจากนี้ อาจพบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชัก ปัญญาอ่อน และยังถือว่าเป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคหลายอย่าง จึงควร แนะนำให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ด้วยเลเซอร์ V-beam (Pulsed-dye laser)

Posted on

โรคกลาก ( Ringworm ) ไม่อยากเป็น ต้องรู้สาเหตุและการรักษา

โรคกลาก คือ อะไร

โรคกลาก (Dermatophytosis or Ringworm ) เป็นภาวะการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ได้แก่เชื้อราใน genus Trichophyton,Epidermphyton, และ Microsporum เชื้อรานี้จะเจริญเติบโตในผิวหนังชั้นตื้น ได้แก่ด้านนอกของผิวหนัง ผม ขน เล็บ ซึ่งมีเคอราตินเป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา
มักจะพบได้ในเด็ก หรือคนที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร้อง โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีอาการมากน้อย ขึ้นอยู่กับ ความชื้นในอากาศ ความสกปรก ความรุนแรงของเชื้อรา ติดต่อโดยทางการสัมผัสจากดิน สัตว์เลี้ยง หรือคนที่มีการติดเชื้อ
อาการทางคลินิก: แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ชนิดเฉียบพลัน: มักพบในกรณีที่ร่างกายมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีลักษณะผื่น เป็นลักษณะอักเสบที่ผิวหนัง จึงมีลักษณะบวม มีรอยแดงนูนทันที ซึ่งมักจะมีโอกาสหายขาดได้สูง
2. ชนิดเรื้อรัง: มักพบผื่นลักษณะแบนราบ(macule) มีอาการคัน ต่อมาจะค่อยๆ ลามขยายออกเป็นวงที่มีขอบเขตชัดเจน โดยที่ตรงกลางจะหาย (central clearing) บริเวณขอบที่ลามออกมาอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มใสร่วมกับขุย(active border) มีรูปร่างเป็นวงกลม หรือวงแหวน หรือหลายวง รวมกัน ( ดังภาพประกอบที่2)

ชนิดของกลาก

เนื่องจากโรคกลากที่ตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย จะมีลักษณะผื่นที่ไม่เหมือนกัน และมีลักษะจำเพาะแต่ละที่ ทำให้เรียกชนิดต่างๆ กัน อาทิเช่น
1. กลากที่หนังศีรษะ (Tinea capitis) มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อโดยใช้สิ่งของร่วมกัน มักระบาดในโรงเรียน วัด สถานรับเลี้ยงเด็ก
2. กลากบริเวณใบหน้า (Tinea faciei)
3. กลากที่ขาหนีบ( Tinea cruris) หรือสังคัง มักพบบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือสะโพก มีอาการคันมาก
4. กลากที่มือ (Tinea manumm) มักพบที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ง่ามนิ้วมือ
5. กลากที่เท้า (Tinea pedis) มักพบตามง่ามนิ้วเท้า ที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต
6. กลากที่เล็บ(Tinea unguium) ซึ่งมักพบที่เล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ และมีข้อสังเกตว่า ถ้าพบเชื้อราที่เล็บมือ และเล็บเท้าพร้อมๆ กันหลายๆ ที่ ควรตรวจภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ หรือตรวจหาเชื้อ HIV
7. กลากหนุมาน (Tinea incognito) มักพบกรณีที่ผู้ป่วยไปรักษาเองตามร้านขายยา และได้ทาเสตียรอยด์ครีม ทำให้ผื่นมีลักษณะแตกต่างจากเดิม โดยมัจะพบเป็นลักษณะผื่นคล้ายผื่นแพ้ มีตุ่มน้ำ ตุ่มนูนหรือมีขุยแดงๆ ทั่วๆ ไป

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัย: แพทย์จะดูลักษณะและตำแหน่งของผื่น ถ้าไม่แน่ใจมักจะขูดเอาเชื้อที่ขอบของรอยโรคมาตรวจด้วยน้ำยา KOH แล้วนำมาส่องดูด้วย กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะพบสายใยใสที่มีผนังกั้นและปล้องของเชื้อรา-hyaline septate hyphae and andthrospore
แนวทางการรักษาและป้องกัน:
1. ครีมทาเชื้อรา ถ้ารอยโรคไม่มาก การทายารักษากลุ่ม Tolnaftae หรือ Imidazole( clotrimazole cream,canesten cream) ก็ทำให้หายได้
2. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา แต่ถ้าเป็นมากหรือโรคกลากบางชนิด เช่น เชื้อราที่เล็บ มักจะให้ยารับประทานร่วมด้วย เช่น
– Itraconazole(Spiral) 100 มก.ต่อวัน นาน 30 วัน
– Terbinafine(Lamisil) 250 มก.ต่อวัน นาน 14 วัน
– Griseofulvin(Fulvin) 500-1,000 มก.ต่อวันนาน 4-6 สัปดาห์

Posted on

ไข้อีสุกอีใส( Chicken pox) : ใครไม่อยากเป็น มีวัคซีนป้องกัน

โรคไข้อีสุกอีใส คืออะไร

โรคไข้อีสุกอีใส เป็นโรคตุ่มน้ำใส พบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี แต่ก็พบได้ทุกช่วงอายุ ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย จำนวนเชื้อที่ได้รับ เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella Zoster
อาการ เริ่มต้น ด้วยการมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย แล้วเกิดตุ่มน้ำขึ้นบริเวณร่างกาย โดยมักเกิดที่ใบหน้า ตามลำตัว ทรวงอก และแพร่กระจายไปตามร่างกาย
โดยภายใน 2-3 วันหลังมีไข้ต่ำๆ ตุ่มน้ำใสระยะแรก จะเริ่มเกิดขึ้น ผนังจะบาง ตุ่มจะใสและมีรอยแดงตรงกลาง หลังจากนั้นตุ่มจะโตขึ้น เป็นตุ่มสีขาวขุ่น หรือเป็นหนอง มักมีรอยบุ๋มตรงกลาง และหลังจากนั้นจะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ด และหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน
– หลังจากเริ่มมีตุ่มน้ำ มีระยะติดต่อตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่สะเก็ดหลุด เชื้อก็ยังอยู่ในร่างกายได้อีก 2 อาทิตย์และยังสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัส ดังนั้นคนที่เป็นไข้อีสุกอีใส ควรกักตัว ไม่พบปะผู้คนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อลดการติดต่อไปยังบุคคลอื่น

วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

ปัจจุบันนิยมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้อีสุกอีใส เพราะถ้าเป็นแล้ว ต้องหยุดเรียนหรือหยุดทำงานเกือบเดือน และพบว่าการเป็นโรคไข้อีสุกอีใสในวัยผู้ใหญ่ จะมีความรุนแรงมากกว่าเป็นตอนวัยเด็ก คือ ตุ่มน้ำพองใสจะมากกว่า รุนแรงกว่า และเกิดร่องรอยแผลเป็นได้มากกว่า
ในประเทศไทย ได้มีการนำวัคซีนนี้เข้ามาฉีดเพื่อป้องกัน ในปี 2538 แต่ไม่ได้ถือเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกคน ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน และสามารถให้แพทย์ตามรพ.และคลินิกจัดฉีดให้ได้

ข้อควรรู้ในการฉีดวัคซีน 

  1. เด็กอายุตั้งแต่ 12-18 เดือน จนถึงอายุ 13 ปี แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม ขนาด 0.5 ซีซี โดยอาจให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ( MMR) หรือสามารถจะฉีดวัคซีนในช่วงใดก็ได้ ถ้ายังไม่เคยเป็นไข้อีสุกอีใสมาก่อน
  2. เด็กที่มีอายุมากกว่า 13 ปี หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4-8 สัปดาห์
  3. หลังฉีดวัคซีน สามารถป้องกันโรคนี้ ได้ถึง ร้อยละ 94-100 ในเด็กปกติ และในผู้ใหญ่ จะป้องกันโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 80
  4. ค่าใช้จ่ายในการฉีดต่อครั้ง ประมาณ 1,250 บาทต่อเข็ม ( ราคาทุน ของวัคซีนประมาณ 800 กว่าบาท )
  5. ไม่แนะนำ หรือห้ามฉีดในคนที่มีประวัติแพ้ยา neomycin หญิงมีครรภ์ และให้นมบุตร ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ แทนที่จะป้องกันโรค